10/02/2558

เที่ยวเขมร(ปราสาทบายน)


ผมมีโอกาสไปเที่ยวประเทศกัมพูชาครับ แน่นอน ก็ต้องมีไปนครวัด นครธม ซึ่งภาพนี้ คือ ส่วนหนึ่งของปราสาทบายน ที่ถือว่าเป็นปราสาทหลักของนครธม ปราสาทบายน ก็คือ ปราสาทที่เป็นรูปหน้าคนนั่นแหละครับ ผมว่าเพื่อนสมาชิกน่าจะนึกออก
ด้วยความที่ผมสนใจรายละเอียดที่มันไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเค้า ผมจึงสนใจอันนี้เป็นพิเศษ คือ ไกค์ท้องถิ่นเค้าเล่าว่า อันนี้เป็นภาพสลักอันเดียวในปราสาทบายนที่ยังเหลือรูปสลักของเทพอวโลกิเตศวรของฮินดู(*ดอกจันตรงนี้ไว้นะครับ) คือแกบอกว่า ที่แรกปราสาทนี้ สร้างตามคติฮินดู ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเข้ามา ก็เลยต้องสลักเอาเทพของฮินดูออกไปจากปราสาท หรือไม่ก็เอาหินมาทับ มาบังไว้(กรณีภาพสลักนี้มีการเอาหินแผ่นทับปิดบังไว้)
กลับกัน แกเล่าต่อว่า ก็มีบางแห่งที่พอเป็นพุทธ ก็กลับไปเป็นฮินดู จึงมีบางรูปสลักที่ตอนแรกสลักเป็นพระพุทธรูป พอเป็นฮินดูก็สลักรูปนั้นดัดแปลงให้เป็นศิวลิงค์(อันนี้น่าสนใจมาก ให้แกชี้ให้ดู แกบอกต้องไปที่ปราสาทอื่น ที่นี่ไม่มี ผมจำชื่อไม่ได้ ว่าปราสาทอะไร)
อันนี้คือแกเล่ามานะครับ ถ้ามันผิดพลาดประการใด ผมก็ไม่ไปโทษไกค์หรอกครับ ถ้าจะมีใครด่าว่าผมมั่วเอาข้อมูลผิดๆมาเสนอ คือ ผมขอรับผิดเองนะครับ 555+ กับเรื่องที่เขมร มีอีกเรื่องที่แกเล่าที่ผมว่าน่าสนใจจริงๆ เกี่ยวกับ การที่สยามยกทัพไปตีนครธมเนี่ยแหละครับ
*ดอกจันนะครับ แกบอกว่า เทพอวโลกิเตศวรของฮินดู(คือได้ยินแบบนั้นจริงๆ) แต่เท่าที่ผมทราบเทพอวโลกิเตศวร นี่น่าจะของพุทธมหายาน คือ ในเขมรเนี่ย ก็มีทั้งฮินดูมาก่อน มีพุทธมหายาน ก่อนจะมา พุทธเถรวาท คือระหว่างเปลี่ยนผ่านมันก็คงมีความสับสนพอสมควร ผมก็ไม่ได้แย้งพี่ไกค์แกนะครับว่า อวโลกิเตศวร นี่มันพุทธมหายานรึป่าวพี่(กลัวเงิบเหมือนกัน รึจริงๆจะเงิบครับ) แต่พระพุทธรูปโดนสลักเป็นศิวลิงค์ อันนี้ได้ยินแน่เต็มสองรูหู ซึ่งผมจะค้นคว้ามานำเสนอในโอกาสต่อไป

3/10/2558

ฮิเดะกิ โทโจ อาชญากรสงครามคนสำคัญในสายตาคนทั้งโลก แต่อีกมุม เขาคือผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่น

ที่ไปที่มาของเรื่องนี้ คือ ก็เป็นที่ทราบกันดีนะครับ สำหรับผู้ที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อที่จะเข้ามาในหูของเรา ชื่อแรกๆของผู้มีส่วนในสงครามของฝ่ายญี่ปุ่น คือ ฮิเดะกิ โทโจ ท่านนี้เป็นใคร ท่านนี้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของญี่ปุ่น และเป็นผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ผู้นำสูงสุดของญี่ปุ่น ก็ยังเป็นองค์จักรพรรดิ ซึ่ง ณ ตอนนั้น คือ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ เราจะเคยเห็น หรือได้ยินบ่อยๆนะครับ สำหรับประโยคติดปากของทหารญี่ปุ่น "เพื่อจักรวรรดิญี่ปุ่น" "สู้เพื่อองค์จักรพรรดิ" ชี้ให้เห็นว่าผู้กำหนดชะตา ชี้ความเป็นไปของญี่ปุ่นที่แท้จริง ก็คือองค์จักรพรรดินี่แหละครับ
และคนที่จงรักภักดี ต่อองค์จักรพรรดิมากที่สุดก็หนีไม่พ้นโทโจนี่แหละครับ เค้าเชื่อฟังคำบัญชาขององค์จักรพรรดิอย่างเคร่งครัด แม้ในฐานะทหารจะเห็นแนวทางการรบอื่นที่ดีกว่าทิศทางที่องค์จักรพรรดิบัญชาลง มาก็ตาม
จนเมื่อถึงบทสุดท้ายของสงคราม ญี่ปุ่นเป็นผู้พ่ายแพ้ แต่ความภักดีที่โทโจมีต่อองค์จักรพรรดิก็ยังไม่เสื่อมคลาย คำให้การของเขาต่อศาลอาชญากรสงครามนั้นยืนยันความรับผิดชอบแต่ผู้เดียวในการ ก่อสงคราม รวมไปถึงคำให้การที่ชี้ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะมิได้ทรงเกี่ยวข้องกับการเริ่มสงคราม ทำให้พระองค์ไม่ต้องมลทินในการเป็นอาชญากรสงคราม
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เองครับ จึงเป็นที่มาที่ผมต้องบอกว่า แม้เขาจะเป็นอาชญากรสงครามที่มีส่วนต่อความโหดร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 มากมายหลายครั้ง แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว เขาเป็นตัวแปรสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นในช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

1/26/2558

เจ้าตอ พะยา ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของพม่า

ท่านนี้คือ เจ้าตอ พะยา ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของพม่าคนปัจจุบันครับ หลังพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าสวรรคต เจ้าหญิงเมียะพยาลัต (ธิดาองค์ที่ ๒) เป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของพม่า

เมื่อเจ้าหญิงเมียะพยาลัต สิ้นพระชนม์ เจ้าตอ พะยา ได้เป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของพม่าต่อจากพระนาง ท่านเป็นหลานของพระเจ้าธีบอ เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของเจ้าหญิงเมียะพยา (ธิดาองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าธีบอ น้องสาวของเจ้าหญิงเมียะพยาลัต)

ท่านเกิด 22 มีนาคม 1924 ปัจจุบันอายุ 90 ปี แล้วครับ

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย

1/23/2558

พิธีสตี เผาตัวตายตามสามี

พิธีสตี คือ พิธีที่ภรรยาหม้ายจะเผาตัวตายตามสามี ทั้งนี้เนื่องจากมีความเชื่อว่าพิธีนี้จะช่วยไม่ให้เกิดเป็นสัตว์ในชาติหน้า นอกจากจะได้ไปมีชีวิตร่วมกับสามีตลอดไปแล้ว ยังช่วยล้างบาปให้ตระกูลสามีถึง 3 ชั่วคน

มีผู้พยายามเลิกพิธีนี้ตั้งแต่ศริสตศวรรษที่ 15 คือ เจ้าผู้ครองแคว้นแคชเมียร์ห้ามทำพิธีสตีในดินแดนของตน แต่ไม่สำเร็จเพราะสมัยต่อมามีการรื้อฟื้นอีก ใน ค.ศ.1510 อาบูเคิร์ก ข้าหลวงโปรตุเกสห้ามทำพิธีสตีในเมืองกัว พระเจ้าอักบาร์ และพระเจ้าชาร์ฮันคีร์เคยห้ามเช่นกัน แต่ห้ามได้เฉพาะแถบเมืองหลวงเท่านั้น

ระหว่างที่อินเดียอยู่ใต้การปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออก บริษัทไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะประเพณีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หากบริษัทเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือยกเลิก จะกระทบกระเทือนความรู้สึกของชาวอินเดียที่มีความเชื่อในเรื่องนี้ และบางครั้งก็เป็นความเต็มใจของผู้ทำพิธีเอง อีกประการหนึ่งอังกฤษเชื่อว่า ความรู้และการศึกษาตามแบบตะวันตกจะช่วยทำให้ประเพณีที่ล้าสมัยเช่นนี้หมดไปเอง

เมื่อมีผู้เรียกร้องให้เลิกพิธีสตีมากขึ้น ชาวยุโรป เช่น พวกดัชท์ ฝรั่งเศส ห้ามทำพิธีในเขตของตน เจ้าหน้าที่ขาวอังกฤษที่อยู่ตามอำเภอก็เคยร้องเรียนต่อฝ่ายปกครอง แต่บริษัทยังมีนโยบายวางตัวเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ.1805 ได้มีการปรึกษาเจ้าผู้ครองแคว้นอินเดียในเรื่องนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิชาวฮินดูได้ให้ความเห็นว่า การทำพิธีเป็นความสุขของผู้ทำ ควรห้ามในบริเวณที่ไม่ค่อยมีการทำพิธีเท่านั้น

ในปี ค.ศ.1812 บริษัทได้ออกคำสั่งห้ามการชักจูงหรือหลอกลวงโดยวิธีหนึ่งวิธีใด ให้ประกอบพิธีโดยเจ้าตัวไม่เต็มใจ ชาวอินเดียบางคนได้เรียกร้องให้เลิกพิธี เช่น รามโมฮันรอย(Rammohan Roy) เขียนหนังสือเผยแพร่ให้ชาวเบงกอลเห็นความเลวร้ายของพิธีนี้ และให้ยกเลิกเสีย

เมื่อ ลอร์ดวิลเลียม เบงทิงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการบริษัทให้พิจารณาหามาตรการเด็ดขาดที่จะยกเลิกพิธีสตีโดยทันทีหรือค่อยๆเลิก เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมซึ่งมีอิทธิพลในยุโรปขณะนั้น

ลอร์ดเบงทิงค์ ได้สอบถามความเห็นจากข้าราชการ และพลเรือน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยกเลิก ดังนั้นในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1829 จึงมีกฎหมายให้การทำพิธีสตีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในเขตเบงกอล ซึ่งเป็นเขตที่มีการประกอบพิธีสตีมากที่สุด การกระทำดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรมถึงแม้ว่าเป็นการกระทำโดยสมัครใจก็ตาม ผู้ช่วยเหลือจะมีความผิด หากเป็นการบังคับจะมีความผิดถึงตาย กฎหมายนี้ประกาศใช้ในเขตอื่นด้วยในภายหลัง เช่น มัทราช และบอมเบย์ หลังจากได้มีการออกกฎหมายยกเลิกพิธีสตีแล้ว พิธีนี้ก็ค่อยๆหายไปจากอินเดีย จะมีบ้างเล็กน้อยนอกเขตการปกครองของอังกฤษ แต่จากการที่ชาวอินเดียได้รับการศึกษาและความรู้แบบใหม่ ทำให้การทำพิธีหมดไปในที่สุ

จาก เอกสารที่อาจารย์แจกสมัยเรียน ไม่รู้อาจารย์เอามาจากเล่มไหน

ประชากรในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2000 และ 2014

ประชากรในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2000 และ 2014

ก่อนเราจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ผมได้รวมรวมข้อมูลประชากรในภูมิภาคนี้ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลมีเรื่องราวน่าสนใจหลายเรื่องครับ

-ประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ไม่มีใครสู้ อินโดนีเซีย ครับ

-ประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุด บรูไน ครับ

-ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มประชากรมากที่สุด สิงคโปร์ ครับ (ผมคิดอัตราการเพิ่มจาก ประชากรที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2000-2014 ว่าเป็นกี่ % ของประชากรในปี 2000) บางทีหลายท่านอาจตกใจ เพราะถ้าใครได้ตามข่าว อาจจะพอทราบมาบ้างว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนประชากรเป็นอย่างมาก เพราะคนไม่นิยมการมีบุตรมาก แต่นั่นเป็นปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน แต่ตัวเลขนี้เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นในช่วงสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันน่าจะอยู่ในช่วงที่อิ่มตัวแล้ว

-ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำสุด คือ ไทย ครับ (ถ้าดูตามข้อมูลผมว่าอีกไม่นานเมียนมาร์อาจจะแซงเรานะ แต่เรื่องประชากรเยอะๆเนี่ย มันก็ไม่ใช่เรื่องดี ที่จะมาแข่งกันหรอกครับ ผมว่าไทยเราไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพประชากร และเตรียมรับมือกับปัญหาการเข้าสูสังคมผู้สูงอายุดีกว่า)

-ระหว่างปี 2000-2014 มีอันดับจำนวนประชากรที่เปลี่ยนแปลงเพียงอันดับเดียว คือ ระหว่าง ฟิลิปปินส์ ซึ่งแซงเวียดนามมาอยู่อันดับ 2 ด้วยอัตราการเพิ่มที่มากกว่ากันเท่าตัว(32-16)

ข้อมูล
www.un.org
www.worldpopulationreview.com

1/22/2558

รวมคำขวัญประจำชาติต่างๆ

เอเชีย
กัมพูชา - ជាតិ សាសនា ព្រះមហាក្សត្រ (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์)
เกาหลีใต้ - 널리 인간 세계를 이롭게 하라 (นำพาประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติอย่างทั่วถึง)
เกาหลีเหนือ – 강성대국 (ชาติอันเกรียงไกรและรุ่งเรือง)
คูเวต - For Kuwait (เพื่อคูเวต)
จอร์เจีย - ძალა ერთობაშია (พลังอยู่ในเอกภาพ)
จอร์แดน - الله، الوطن، الملك (พระเจ้า, มาตุภูมิ, กษัตริย์)
ซาอุดีอาระเบีย - لا إله إلا الله محمد رسول الله (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์)
ติมอร์-เลสเต - Unidade, Acção, Progresso (เอกภาพ การกระทำ ความก้าวหน้า)
ตุรกี - Yurtta Sulh, Cihanda Sulh (สันติภาพในบ้าน สันติภาพในโลก)
เนปาล - जननी जन्मभूमिष्च स्वर्गादपि गरीयसी (แผ่นดินแม่มีค่ายิ่งกว่าสวรรค์)
บรูไน - Always in service with God's guidance (น้อมรับใช้ตามแนวทางของพระเจ้าเสมอ)
ปากีสถาน - Iman, Ittehad, Nazm (ศรัทธา, เอกภาพ, วินัย)
ฟิลิปปินส์ - Maka-Diyos, Makatao, Makakalikasan, at Makabansa (เพื่อพระเจ้า ประชาชน ธรรมชาติ และบ้านเมือง)
ภูฏาน – หนึ่งชาติ หนึ่งประชาชน
มาเลเซีย - Bersekutu Bertambah Mutu (ความเป็นเอกภาพคือพลัง)
ลาว - ສັນຕິພາບ ເອກະລາດ ປະຊາທິປະໄຕ ເອກະພາບ ວັດຖະນາຖາວອນ (สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร)
เลบานอน - Kūllūnā li-l-waṭan, li-l-'ula wa-l-'allam (เราทุกคน เพื่อชาติ เพื่อธง และเพื่อความรุ่งเรืองของเรา)
เวียดนาม - Độc lập – Tự do – Hạnh phúc (เอกราช อิสรภาพ ความสุข)
สิงคโปร์ - Majulah Singapura (สิงคโปร์จงเจริญ)
อาเซอร์ไบจาน - Odlar Yurdu (ดินแดนแห่งไฟนิรันดร)
อาร์เมเนีย - Mek Azg, Mek Mshakouyt (หนึ่งชาติ หนึ่งวัฒนธรรม)
อินเดีย - सत्यमेव जयते (ความจริงเท่านั้นจักมีชัย)
อินโดนีเซีย - Bhinneka Tunggal Ika (เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย)
อิรัก - อัลเลาะห์ อัคบาร์ (พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด)
อิหร่าน - Esteqlāl, āzādī, jomhūrī-ye eslāmī (เอกราช เสรีภาพ สาธารณรัฐอิสลาม)

โอเชียเนีย
คิริบาส - Te Mauri, Te Raoi ao Te Tabomoa (สุขภาพ สันติภาพ และความรุ่งเรือง)
ซามัว - Faavae i le Atua Samoa (ซามัวสถาปนาด้วยพระเจ้า)
ตองกา - Ko e ʻOtua mo Tonga ko hoku tofiʻa (พระเจ้าและตองกาคือมรดกของข้าพเจ้า)
ตูวาลู - Tuvalu mo te Atua (แปดยืนยงเพื่อพระเจ้า)
นาอูรู - God's Will First (พระประสงค์ของพระเจ้ามาก่อน)
ปาปัวนิวกินี - Unity in diversity (เอกภาพในความหลากหลาย)
ฟิจิ - Rerevaka na Kalou ka Doka na Tui (ยำเกรงพระเจ้าและเกียรติของสมเด็จพระราชินีนาถ)
ไมโครนีเซีย - สันติภาพ เอกภาพ เสรีภาพ

ยุโรป
กรีซ - Ελευθερία ή Θάνατος (อิสรภาพหรือความตาย)
ซานมารีโน - Libertas (เสรีภาพ)
เซอร์เบีย - Само Слога Србина Спасава (ความเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นที่คุ้มครองชาวเซิร์บ)
นอร์เวย์ - Alt for Norge (ทุกสิ่งเพื่อนอร์เวย์)
บัลแกเรีย - Съединението прави силата (พลังจากความเป็นหนึ่งเดียว)
เบลเยียม - Eendracht maakt macht(ดัตช์) (สามัคคีคือพลัง)
ฝรั่งเศส - Liberté, Égalité, Fraternité (เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ)
โมนาโก - Deo Juvante (ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า)
เยอรมนี - Einigkeit und Recht und Freiheit (ความสามัคคี ความถูกต้อง และเสรีภาพ)
ลักเซมเบิร์ก - Mir wëlle bleiwe wat mir sinn (เราต้องการจะยังคงเป็นในสิ่งที่เป็นอยู่)
ลัตเวีย - Tēvzemei un Brīvībai (เพื่อปิตุภูมิและอิสรภาพ)
ลิกเตนสไตน์ - Für Gott, Fürst und Vaterland (แด่พระเจ้า เจ้าชาย และมาตุภูมิ)
สเปน - Plus Ultra (ไกลกว่านั้นอีก)
สวิตเซอร์แลนด์ - Unus pro omnibus, omnes pro uno (หนึ่งเดียวเพื่อทุกสิ่ง ทุกสิ่งเพื่อหนึ่งเดียว)
สวีเดน - เกิดสวีเดน โตที่สวีเดน ตายสวีเดน
สหราชอาณาจักร - God and my right
อันดอร์รา - Virtus Unita Fortior (พลังที่รวมเป็นหนึ่งแข็งแรงกว่า)

แอฟริกา
กานา - Freedom and Justice (อิสรภาพ และ ยุติธรรม)
เคปเวิร์ด - Unity, Work, Progress (เอกภาพ งาน ความก้าวหน้า)
กินี - Travail, Justice, Solidarité (งาน ความยุติธรรม เอกภาพ)
กินี-บิสเซา - Unidade, Luta, Progresso (เอกภาพ การต่อสู้ ความก้าวหน้า)
โกตดิวัวร์ - Unity, Discipline and Labour (เอกภาพ ระเบียบวินัย และแรงงาน)
คอโมโรส - Unité - Justice – Progrès (เอกภาพ - ยุติธรรม - ความก้าวหน้า)
เคนยา - Harambee (ทำงานร่วมกัน)
แคเมอรูน - Paix, Travail, Patrie (สันติภาพ งาน ปิตุภูมิ)
ชาด - Unité, Travail, Progrès (เอกภาพ แรงงาน การพัฒนา)
ซิมบับเว - Unity, Freedom, Work (เอกภาพ, อิสรภาพ, การงาน)
ซูดาน - النصر لنا (ชัยชนะเป็นของเรา)
เซาท์ซูดาน - ความยุติธรรม เสรีภาพ ความมั่งคั่ง
เซียร์ราลีโอน - Unity - Freedom – Justice
แซมเบีย - One Zambia, One Nation
ตูนิเซีย - Order, Liberty, Justice
โตโก - Travail, Liberté, Patrie (งาน เสรีภาพ บ้านเกิด)
แทนซาเนีย - Uhuru na Umoja (อิสรภาพและเอกภาพ)
นามิเบีย - Unity, Liberty, Justice
ไนจีเรีย - Unity and Faith, Peace and Progress (เอกภาพและศรัทธา สันติและความก้าวหน้า)
ไนเจอร์ - Fraternité, Travail, Progrès ภราดรภาพ แรงงาน การพัฒนา)
บอตสวานา - Pula (Rain) (ฝน)
บุรุนดี - Unité, Travail, Progrès (เอกภาพ แรงงาน ความก้าวหน้า)
บูร์กินาฟาโซ - Unité-Progrès-Justice (เอกภาพ-ความก้าวหน้า-ยุติธรรม)
เบนิน - Fraternité, Justice, Travail (ภราดรภาพ ยุติธรรม การงาน)
มอริเชียส - Stella Clavisque Maris Indici (ดาวและกุญแจของมหาสมุทรอินเดีย)
มอริเตเนีย - شرف إخاء عدل; Honneur, Fraternité, Justice (ศักดิ์ศรี ภราดรภาพ ความยุติธรรม)
มาดากัสการ์ - Tanindrazana, Fahafahana, Fandrosoana (แผ่นดินของบรรพบุรุษ, เสรีภาพ, การพัฒนา)
มาลาวี - Unity and Freedom (สามัคคีและและเสรีภาพ)
มาลี - Un peuple, un but, une foi (หนึ่งชนชาติ หนึ่งเป้าหมาย หนึ่งศรัทธา)
โมร็อกโก - الله، الوطن، الملك Allāh, al Waţan, al Malik (พระเจ้า ประเทศ กษัตริย์)
ยูกันดา - For God and My Country (เพื่อพระเจ้าและประเทศของข้าพเจ้า)
รวันดา - Unity, Work, Patriotism (ความสามัคคี การทำงาน อุดมการณ์รักชาติ)
เลโซโท - Khotso, Pula, Nala (สันติภาพ ฝน มั่งคั่ง)
ไลบีเรีย - The love of liberty brought us here
สวาซิแลนด์ - Siyinqaba (พวกเราคือป้อมปราการ)
สาธารณรัฐคองโก - Unité, Travail, Progrès (เอกภาพ งาน ความก้าวหน้า)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก - คำขวัญ: Justice - Paix - Travail (ยุติธรรม - สันติภาพ - งาน)
แอฟริกากลาง - Unité, Dignité, Travail (เอกภาพ ศักดิ์ศรี งาน)
อิเควทอเรียลกินี - Unidad, Paz, Justicia (เอกภาพ สันติภาพ ยุติธรรม)
แอฟริกาใต้ - !ke e: ǀxarra ǁke (เอกภาพในความหลากหลาย)
แอลจีเรีย - من الشعب و للشعب (การปฏิวัติโดยประชาชนและเพื่อประชาชน)

อเมริกาเหนือ
กัวเตมาลา - El País de la Eterna Primavera (ดินแดนแห่งฤดูใบไม้ผลิตลอดกาล)
เกรเนดา - The Land, the People, the Light
คอสตาริกา - ¡Vivan siempre el trabajo y la paz! (การงานและสันติภาพจงเจริญชั่วกาลนาน !)
คิวบา - Patria o Muerte (บ้านเกิดหรือความตาย)
แคนาดา - A Mari Usque Ad Mare (จากทะเลสู่ทะเล)
จาเมกา - Out of many, one people (จากคนหมู่มากรวมเป็นหนึ่ง)
เซนต์คิตส์และเนวิส - Country Above Self (ประเทศชาติอยู่เหนือกว่าตนเอง)
เซนต์ลูเซีย - The Land, The People, The Light (แผ่นดิน ประชาชน แสงสว่าง)
เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ - Pax et justitia (สันติภาพและความยุติธรรม)
โดมินิกา - After God is the Earth
นิการากัว - En Dios Confiamos (เราเชื่อในพระเจ้า)
บาร์เบโดส - Pride and Industry
บาฮามาส - Forward Upward Onward Together
เบลีซ - Sub Umbra Floreo (เราเจริญขึ้นภายใต้ร่มเงา)
ปานามา - Pro Mundi Beneficio (เพื่อผลประโยชน์ของโลก)
สหรัฐอเมริกา - In God We Trust (เราเชื่อในพระเจ้า)
สาธารณรัฐโดมินิกัน - Dios, Patria, Libertad (พระเจ้า ปิตุภูมิ เสรีภาพ)
เอลซัลวาดอร์ - Dios, Unión, Libertad (พระเจ้า, ความปรองดอง, เสรีภาพ)
ฮอนดูรัส - Libre, Soberana e Independiente (เสรี อำนาจอธิปไตย และเอกราช)
เฮติ - L'Union Fait La Force (ความเป็นหนึ่งเดียวสร้างพลัง)

อเมริกาใต้
กายอานา - One People, One Nation, One Destiny (หนึ่งชนชาติ หนึ่งชาติ หนึ่งชะตากรรม)
โคลอมเบีย - Libertad y Orden (เสรีภาพและความเป็นระเบียบ)
ชิลี - Por la Razón o la Fuerza (By right or might)
ซูรินาเม - Justitia - Pietas – Fides (Justice - Piety - Loyalty)
ตรินิแดดและโตเบโก - Together we aspire, together we achieve (เราแสวงหาร่วมกัน เราบรรลุผลด้วยกัน)
บราซิล - Ordem e Progresso (ลำดับและขั้นตอน)
โบลิเวีย - ¡La unión es la fuerza! (สามัคคีคือพลัง!)
ปารากวัย - Paz y justicia (สันติภาพและความยุติธรรม)
อาร์เจนตินา - En Unión y Libertad (ในความปรองดองและเสรีภาพ)
อุรุกวัย - Libertad o Muerte (เสรีภาพหรือความตาย)
เอกวาดอร์ - Dios, patria y libertad (พระเจ้า มาตุภูมิ และเสรีภาพ)

ทั้งหมดนี้ ผมรวบรวมจาก วิกิพีเดีย เอาคำแปลตามเค้ามาเลยนะครับ ส่วนไทยแลนด์ของเรานั้น ไม่มีคำขวัญประจำชาติอย่างเป็นทางการนะครับ จะมีแบบไม่เป็นทางการคือ
พ.ศ. 2416 - 2453 - สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิ สาธิกา (ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ)
หลัง พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา - ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (อันนี้ผมเห็นส่วนใหญ่จะเป็นทหารเค้าใช้กันนะครับ)

ส่วนคำขวัญของชาติที่ผมชอบที่สุดนะ ของสเปนครับ Plus Ultra ไกลกว่านั้นอีก สั้นๆ แต่ดูขลังดี อนึ่ง ของกัมพูชากับเรานี่เหมือนกันเลยนะเนี่ย

1/21/2558

ทำไมก่อนบวชต้องเป็น "นาค" แล้วทำไมต้องถามว่า "เจ้าเป็นคนรึป่าว?"

มีตำนานเค้าเล่ากันว่า ครั้งนึง พญานาค ที่ศาสนาเราเค้าไม่ให้มาบวช ปลอมตัวเข้ามาบวช ปรากฎว่าโดนจับได้เลยถูกจับสึกในที่สุด แต่ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา พญานาค เลยขอกับพระพุทธองค์ว่า ไหนๆพวกพญานาคก็บวชไม่ได้แล้ว ก็อยากขอให้คนที่จะบวช ก่อนจะบวชให้เรียกว่า "นาค" เถิด

ในการบวชพระคู่สวดจึงต้องมีการถามผู้บวชว่า "มนุสโส สิ?" "เจ้าเป็นคนรึป่าว?"

อันนั้นคือตำนานครับ แต่มีเรื่องที่เกิดขึ้นจริงนะครับ คือในอินเดียสมัยโบราณเนี่ย สมัยที่พุทธรุ่งเรื่อง คนที่จะบวชได้ก็คือชาวอารยันเท่านั้นนะ คนเชื้อชาติอื่นจะมาบวชไม่ได้ และจากการที่มีการเรียกชนชาติอื่นๆอย่างเหยียดหยามว่าไม่ใช่คนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง

ชนกลุ่มนึงแถวๆอัสสัมตะวันออก ติดๆกับพม่า จึงถูกเรียกว่า "นาคา" (ปัจจุบันคือ รัฐนาคาแลนด์) ซึ่งก็คือ "นาค" นั่นแหละ และจากการที่ชาวนาคาเค้าก็มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ รวมถึงมีการแอบเนียนมาบวช(ซึ่งอารยันเค้าไม่ให้บวช) จึงต้องมีการถามก่อนบวชว่า "เจ้าเป็นคน(อารยัน)รึป่าว?"

*ขอบคุณข้อมูลประกอบจากหนังสือเล่มนึงของ "จิตร ภูมิศักดิ์"

เจอโรนิโม แห่งเผ่าอินเดียนแดง

เจอโรนิโม ในปี 1905 เป็นช่วงปลายของชีวิต จะบอกว่าโชคดีที่ได้มีชีวิตอยู่จนแก่ หรือโชคร้ายที่ต้องมาเห็นคนที่รักต้องมาตาย ก็พูดยากครับ

ผมขอติดเรื่องราวรายละเอียดของชาวอินเดียนแดงไว้ก่อนนะครับ แต่ผมอยากจะพูดสิ่งที่ผมได้ จากการรับรู้เรื่องราวของพวกเค้า ว่าผมรู้สึกอย่างไร สงสารครับ สงสารจับใจ สงสารมากกว่าชาวยิวในค่ายกักกันนาซี สงสารมากกว่าชาวญี่ปุ่นที่โดนระเบิดปรมาณู ทำไมน่ะเหรอครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

สหรัฐอเมริกา ใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนเป็นสโลแกนในการหาเรื่องโจมตีประเทศคู่อริ แต่เค้าลืมไปหรือ ว่ากว่าจะมีวันนี้ เคยทำอะไรไว้บ้าง

ฉากสะเทือนใจที่สุด คือ มีการนัดเจรจาสงบศึกระหว่างกลุ่มชาวอินเดียนแดง กับพวกฝรั่งผิวขาว โดยชายชาวอินเดียนแดงก็ยกไปกันหมดล่ะครับ เพราะไปกันน้อยก็มีหวังโดนฆ่าหมด ปล่อยให้หมู่บ้านเหลือแค่ผู้หญิงกับเด็ก

แต่ฉากหลัง ไอ้พวกฝรั่งมันหลอกให้ผู้ชายออกมา แล้วส่งกำลังอีกชุด ไปฆ่าผู้หญิงกับเด็กตายเกือบหมดหมู่บ้าน ไหนๆก็หลอกผู้ชายออกมาได้แล้ว ก็ฆ่าให้หมดไปสิ ผู้หญิงกับเด็กมันจะไปทำอะไรได้

ถ้าเป็นในหนังคนพวกนั้นมันก็แค่ตัวโกงที่หลอกทำร้ายคนซื่อๆ ไม่มีทางสู้ แต่เมื่อมันเป็นเรื่องจริงต้องบอกว่าคนพวกนั้น

แม่ง เลวบัดซบสิ้นดี

ถ้า วันนั้น ร.5 ไม่ประกาศเลิกทาส

ถ้า วันนั้น ร.5 ไม่ประกาศเลิกทาส เหล่าทาสทั้งหลายจะมีวิธีการใดบ้างที่จะหลุดพ้นจากความเป็น "ทาส"

1)โดยการหาเงินมาไถ่ถอน ผมว่ายากครับ เพราะทาสก็ทำงานให้นายทาสฟรีๆอยู่แล้ว จะไปหาเงินมาจากไหน

2)การบวชเป็นสงฆ์โดยได้รับความยินยอมจากนายทาส วิธีนี้ท่านต้องศรัทธาในศาสนาจริงๆนะครับ ไม่ใช่บวชเพียงเพราะแค่ไม่อยากเป็นทาส เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นผมว่ามันจะบาปเปล่าๆ ที่สำคัญนายทาสต้องใจดีมากๆ

3)การไปสงครามและถูกจับเป็นเชลย หลังจากนั้นหลบหนีออกมาได้ เรียกได้ว่าเป็นการสมนาคุณที่คุณไปรบช่วยชาติ แต่ระวังนะครับ หนีกลับมาไม่ได้ก็ต้องไปเป็นทาสที่ต่างแดนนะ ลำบากกว่าเป็นทาสที่บ้านตัวเองแน่นอน

4)แต่งงานกับนายทาส หรือลูกหลานของนายทาส อันนี้เห็นในละครบ่อย แต่ท่านต้องสวยเหมือนดาราในละครนะ ไม่งั้น ยาก

5)ไปแจ้งทางการว่านายทาสเป็นกบฏ และผลสืบสวนออกมาว่าเป็นจริง อันนี้อย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้านะ ไม่มั่นใจจริงๆอย่าทำ ถ้าจะทำต้องระวัง เพราะถ้านายทาสระแคะระคาย ท่านอาจจะไม่มีโอกาสไปแจ้งใคร

ลำบากจริงๆนะครับ "ทาส" เนี่ย

กษัตริย์ที่ครองราชย์เป็นระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 10 อันดับ

วันนี้ผมจะนำเสนอ เรื่องราวว่าด้วย พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์เป็นระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 10 อันดับครับ

1.สมเด็จเจ้าฟ้าไชย 2 วัน (ในภาพประกอบ)
2.สมเด็จพระเจ้าทองลัน 7 วัน
3.สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ 36 วัน
4.ขุนวรวงศาธิราช 42 วัน
5.สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร 2 เดือน
6.สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา 2 เดือน 17 วัน
7.พระรัษฎาธิราช 5 เดือน
8.สมเด็จพระมหินทราธิราช 7 เดือน
9.สมเด็จพระเชษฐาธิราช 8 เดือน
10.สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ 1 ปี 2 เดือน

อนึ่ง ข้อมูลทั้งหมดนี้ผมรวบรวมจาก ภาคผนวก ของหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป โดย เดวิด เค วัยอาจ ประกอบกับ วิกิพีเดีย แต่จะใช้หนังสือเป็นหลักในส่วนข้อมูลที่ขัดกัน เช่น ระยะเวลาครองราชย์ของสมเด็จเจ้าฟ้าไชย หากมีตรงไหนผิดพลาดขออภัย แจ้งเข้ามาได้ ผมจะแก้ไขต่อไปครับ

และสุดท้ายผมไม่ได้ไปดูของล้านนา หรือ แคว้นอื่นๆนะครับ เอาเฉพาะ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์เท่านั้น

1/20/2558

จิ๋นซีฮ่องเต้ สั่ง "เผาตำราฆ่าบัณฑิต"

212 ปี ก่อน ค.ศ. จิ๋นซีฮ่องเต้ สั่งเผาตำราขงจื๊อ รวมทั้งส่งคณะสำรวจทางเรือเพื่อค้นหาต้นสมุนไพนใช้ทำยาอายุวัฒนะ

การดำเนินการเผาตำราฆ่าบัณฑิตนั้น มีการออกราชโองการให้เผาทำลายหนังสือตำราทุกชนิด ยกเว้นตำราการแพทย์ ตำราพยากรณ์ และตำราการเพาะปลูก มีคำสั่งห้ามมิให้มีการเปิดโรงเรียนเอกชน ห้ามเรียนวิชาเกี่ยวกับแนวความคิดของสำนักต่างๆ และดำเนินการวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ในเวลาต่อมาเมื่อโองการประกาศใช้ ก็สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาสานุศิษย์ของลัทธิขงจื๊อเป็นอย่างมาก ส่งให้สานุศิษย์ของลัทธิขงจื๊อเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ความเหลวแหลกของจิ๋นซี ฮ่องเต้ ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหายาอายุวัฒนะ ความโลภ และโหดเหี้ยมต่างๆ นานัปการ

เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ทราบข่าวดังกล่าวเข้าก็พิโรธเป็นอย่างยิ่ง และออกคำสั่งให้มีการประหารเหล่าสานุศิษย์ของลัทธิขงจื๊อ ด้วยวิธีการฝังทั้งเป็นรวมแล้วกว่า 460 คน

การเผาตำราฆ่าบัณฑิต เดิมทีเป็นความพยายามของจิ๋นซีฮ่องเต้ในการควบคุมทางความคิดของประชาชนให้ เป็นไปในแนวเดียวกัน แต่ผลสุดท้ายการกระทำดังกล่าวกลับไม่ได้สามารถช่วยกลบเกลื่อนความเหลวแหลก ความโลภ และความโหดร้ายทารุณของจิ๋นซีฮ่องเต้ในการปกครองประเทศให้เบาบางลงได้ และรังแต่จะเร่งจุดจบของราชวงศ์ฉินให้มาถึงรวดเร็วขึ้นเท่านั้น

ขอบคุณ
หนังสือ “ศาสนา และปรัชญา ในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น” โดย ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9490000004971

สงครามเพลอพอนนีเซียน (Peloponnesian War)

สงครามเพลอพอนนีเซียน (Peloponnesian War) ปี 431-404 ก่อน ค.ศ.

 ปี 431 ก่อน ค.ศ. เริ่มสงครามที่เรียกว่า เพลอพอนนีเซียน ระหว่างสปาร์ต้า กับ เอเธนส์ เป็นผลจากความขัดแย้งระหว่าง เอเธนส์ กับ สปาร์ต้าร่วมกับคอรินธ์ อันมีผลมาจากการแย่งชิงอาณานิคม และแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้า สปาร์ต้าจึงร่วมกับคอรินธ์ประกาศสงครามและส่งกำลังเข้าโจมตีเอเธนส์

ปี 404 ก่อน ค.ศ. หลังจากเอเธนส์ขอทำสัญญาสงบศึกในปี 422 ก่อน ค.ศ. สปาร์ต้า ก็บุกเอธนส์อีกในปี 419 ก่อน ค.ศ. และเกิดการรบรุนแรงตามมา ความเสียหายอย่างหนักในทุกด้านทำให้เอเธนส์ยอมแพ้ในปี 404 ก่อน ค.ศ. สปาร์ต้ายกเลิกระบอบประชาธิปไตยของเอเธนส์ และสถาปนาระบอบคณาธิปไตย นำไปสู่ความเสื่อมของกรีกเนื่องจากเต็มไปด้วยการทำลายระหว่างรัฐกรีกด้วยกัน เอง

ขอบคุณข้อมูล ธเนศวร์ เจริญเมือง เรื่อง การปกครองท้องถิ่นกับการบริหารจัดการท้องถิ่น อีกมิติหนึ่งของอารยธรรมโลก