9/20/2559

บรรดาศักดิ์ขุนนางไทย อดีต-ปัจจุบัน


อันนี้เป็นเมื่อสมัยโบราณครับ แล้วถ้าจะเทียบเป็นระบบซี จะเทียบได้ดังนี้



ข้าราชการระดับ 11 เทียบ "เจ้าพระยา"

ข้าราชการระดับ 9,10 เทียบ "พระยา"

ข้าราชการระดับ 7,8 เทียบ "พระ"

ข้าราชการระดับ 5,6 เทียบ "หลวง"

ข้าราชการระดับ 3,4 เทียบ "ขุน" (ระดับ 3 ถือเป็นข้าราชการสัญญาบัตร)

ข้าราชการระดับ 2 เทียบ "พัน" หรือ "หมื่น"

ข้าราชการระดับ 1 เทียบ "นาย"



แต่เอาแบบปัจจุบันจริงๆนะครับ ข้าราชการพลเรือนไทยก็ยกเลิกระบบซีไปเรียบร้อยแล้ว มาใช้ระบบแท่ง มี 4 แท่ง หลายระดับวุ่นวายครับ เพื่อความง่ายต่อการเปรียบเทียบ ท่านที่ใช้ระบบแท่ง ก็ขอให้ลองกลับไปเปรียบเทียบดู ว่าหากยังใช้ระบบซี ท่านจะมีตำแหน่งซีเท่าไร ซึ่งตัวผมเองขอยกเป็นตัวอย่างเพื่อความเข้าใจง่ายๆนะครับ



กรณีท่านจบการศึกษา แล้วเข้าไปเป็นข้าราชการตามวุฒิที่ท่านจบมา

-ถ้าท่านจบ ปวช.(ซี 1) เป็นระดับปฏิบัติงาน เท่ากับ "นาย" ในสมัยโบราณ

-ถ้าท่านจบ ปวส.(ซี 2) เป็นระดับปฏิบัติงาน เท่ากับ "พัน" หรือ "หมื่น"

-ถ้าจบปริญญาตรี(ซี 3)โท(ซี4) เป็นระดับปฏิบัติการ เท่ากับ "ขุน" (ถ้าเป็นทหาร ตำรวจ ก็จบโรงเรียนนายร้อยใหม่ๆ)



จากนั้นก็เลื่อนระดับกันไปเรื่อยๆครับ แล้วมาดูระดับสูงๆกันบ้าง



-นายอำเภอเล็กๆ ก็ "พระ" นายอำเภอใหญ่ๆก็ "พระยา"

-ระดับอธิบดี หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เทียบเป็นระบบซี ก็ซี 10 ก็เทียบได้กับ "พระยา"

-ปลัดกระทรวง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการ(ซี 11) จึงเท่ากับ "เจ้าพระยา"



ท่านที่สังเกตดีๆอาจจะเห็นว่าแล้ว "สมเด็จเจ้าพระยา" หายไปไหน ตำแหน่งนี้นั้นเพิ่งมามีครั้งแรกในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นตำแหน่งที่ใหญ่กว่าข้าราชการโดยทั่วๆไป เรียกว่า พิเศษก็ได้ครับ และในประวัติศาสตร์นั้นเคยมีผู้ได้รับแต่งตั้ง เพียง 4 ท่าน คือ



1.สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก บรรดาศักดิ์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก่อนปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ใหม่

2.สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4

3.สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4

4.สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 5



อันนี้เป็นการเปรียบเทียบกับข้าราชการพลเรือนนะครับ ถ้าเป็นตำรวจ ทหาร ก็เปรียบเทียบกันได้ครับ ยิ่งง่ายเลย เริ่มที่สัญญาบัตรร้อยตรี ก็เทียบได้กับ ซี3 ก็รันขึ้นไปเรื่อยๆ พล.อ. ก็ ซี11 เจ้าพระยา ส่วนที่พิเศษไปกว่านั้น จอมพล ก็คงประมาณ สมเด็จเจ้าพระยา กระมัง



เราลองมาดูตัวละครในประวัติศาสตร์ ในนิยายกันดีว่าครับ

-พันท้ายนรสิงห์ ถ้าปัจจุบันคงเป็นทหารเรือยศนายสิบ(เพราะพันซี 2 ยังไม่สัญญาบัตร)

-ขุนแผน ก็คงเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกจบใหม่ ติดดาวเป็นร้อยตรี

-ขุนช้างก็ข้าราชการที่จบปริญญาตรีเพิ่งได้เข้าบรรจุใหม่เช่นกัน

-จั่นเจา องครักษ์ระดับ 4 ก็ประมาณร้อยตำรวจโทสินะครับ 555 (ขอเอาไปเทียบกับของจีนนะครับ)

-พระยาพิชัยดาบหัก ก็ นายอำเภอ(ขนาดใหญ่) หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เลยล่ะครับ



ป.ล.ถ้าเรื่องระดับตำแหน่ง นี่เป็นการเทียบเพียงคร่าวๆ เท่านั้น หากเกิดผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้


ว่าด้วยเรื่อง พระนามพระมหากษัตริย์ไทย ในรูปแบบ พระเจ้า...ที่...(คล้ายทางยุโรป)

 ที่ไปที่มา คือ ความสงสัยที่เราน่าจะมีกันทุกคนว่า เราคุ้นเคยพระนามพระมหากษัตริย์ไทย ในนามที่เป็นพระนามเฉพาะพระองค์ ไม่ได้เป็นเหมือนในยุโรปที่เค้าใช้พระเจ้า...ที่... วันนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องนี้ครับ (เตือนก่อนนะครับ เรื่องนี้ยาวมาก)

-พระนามขึ้นต้น “พระมหาธรรมราชา”
พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)
พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไทย)
พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไลสือไท)
พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)

-พระนามขึ้นต้น “สมเด็จพระรามาธิบดี”
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

-พระนามขึ้นต้น “สมเด็จพระบรมราชาธิราช”
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระบรมราชา)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร)

-พระนามขึ้นต้น “สมเด็จพระสรรเพชญ์”
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3 สมเด็จพระเอกาทศรถ
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4 พระศรีเสาวภาคย์
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 6 สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7 สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระเจ้าเสือ
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสร

-พระนามขึ้นต้น “สมเด็จพระบรมราชา”
สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 (พระเจ้าทรงธรรม)
สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (สมเด็จพระเชษฐาธิราช)


-พระนามขึ้นต้น “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี”
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ร.1)
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ร.2)
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (ร.3)
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4 (ร.4)
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 (ร.5)
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 (ร.6)

อันสุดท้ายนี้เป็นของยุคราชวงศ์ จักรี ที่ผมค้นดูแล้ว เค้าบอกว่า ร.6 เป็นผู้ขนานนาม ร.1-ร.5 ในรูปแบบนี้ แต่พอมาถึง ร.7 ท่านก็ไม่ใช้แบบนี้ ข้อมูลตรงนี้ผมไม่แน่ใจในความถูกต้องนะครับ เพราะจริงๆแล้ว เหมือนผมคุ้นๆว่า ร.1 ท่านใช้นามอีกนามหนึ่งทำนองสมเด็จพระมหา...ที่... นี่แหละครับ แต่ไม่ใช่ที่ 1 นะ ใครพอจะทราบ รบกวนช่วยทีนะครับ ตอนนี้ที่ค้นได้ดีที่สุดเพียงเท่านี้

อนึ่ง แต่ละพระนามท่านไม่ได้ครองราชย์ตติดต่อกันทุกพระองค์ ตามลำดับในแต่ละพระนามนะครับ มีการเว้น มีพระนามอื่นมาแทรก หรือไม่ก็กระโดดไปใช้ในอีกราชวงศ์ก็มี(ก็คล้ายๆทางยุโรปนั่นแหละครับ)

ข้อมูลด้านบนเป็นข้อมูลที่เคลียร์แล้วครับ และจากบรรทัดนี้เป็นต้นไปเป็นการวิเคราะห์ของผมเอง ประกอบกับข้อมูลที่ค้นได้ดีที่สุด ณ ตอนนี้ ผมแนะนำให้ตั้งใจอ่านนะครับ เพราะผมเองพิมพ์เอง ยังงงเหมือนกัน 55+

เอาล่ะครับ ที่นี้มาว่ากันที่พระนามที่เป็นปัญหา ซึ่งต้องบอกก่อนว่าผมใช้วิธีค้นจากวิกิพีเดีย และเวปไซต์ราชบัณฑิตยสถาน เป็นหลัก ซึ่งพระนามที่เป็นปัญหาของผมคือ

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)
สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

เรามาเริ่มพิจารณากันเลยครับ มันคงจะง่ายมาก หากผมลงความเห็นไปว่า ข้อมูลของทั้ง 3 ท่านนี้ผิดพลาด ทำให้เราหาที่ลงไม่ได้ว่า ทั้ง 3 ท่านนี้ จะไปอยู่ตรงไหน ปล่อยมันผ่านไป แต่ ณ จุดนี้ ผมขอใช้ความเห็นส่วนตัวในการพิจารณาทั้ง 3 ท่านนี้ โดยขอยกแนวทางความเป็นไปได้ ดังนี้

1.อันดับแรกเราไปดูที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) นั้น ซ้ำกับพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และ 4 ของพระบรมราชา และ พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ซึ่งผมเห็นว่าพระนามของพระบรมราชา และ พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร น่าจะเป็นนามที่ถูกต้องแล้ว เพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 1 และ 2 ก็เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิเช่นเดียวกัน อีกทั้งระยะการครองราชย์ ก็ต่อเนื่องกัน(แม้จะมีราชวงศ์อู่ทองมาคั่นก็ตาม)

หากเป็นเช่นนั้นแล้วไซร้ ท่านน่าจะไปอยู่ตรงไหน ผมว่าท่านน่าจะไปต่อจากสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (สมเด็จพระเชษฐาธิราช) เพราะหากเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า “สมเด็จพระบรมราชา” กับ “สมเด็จพระบรมราชาธิราช” ต่างกันแค่ตรง “ธิราช” เท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจเกิดความคลาดเคลื่อนในขั้นตอนใด้ขั้นตอนหนึ่งในการจดบันทึก???

2.ที่นี้ไปดูนาม สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หากเราจับพระบรมราชาธิราช ที่ 3 และ 4 ไปต่อเข้ากับ สมเด็จพระบรมราชา ที่ 1 และ 2 ดังที่ผมเสนอไปใน ข้อ 1) แล้วพิจารณาจากพระนามที่เหลือ ก็คงมีหลายท่านต่อให้จบแบบง่ายๆ พระเจ้าตากเป็นที่ 4 ก็หาที่ 3 ต่อซะ แม้พระนามจะไม่เหมือนกัน ก็สรุปไปซะว่า ข้อมูลที่คนมาผิดพลาด กวาดสายตาดูแล้ว เจอ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์) ยังไม่มีที่ 4 ต่อ ก็ต่อไปซะเลยว่าจริงๆแล้วพระเจ้าตากคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4 ไม่ใช่ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ข้อมูลที่ค้นมานั้นมันบันทึกผิดไป

แต่ช้าแต่ สำหรับผมมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ ความเป็นไปได้ตรงนี้มันมีอีกหลาย แนวทาง อันดับแรก อาจจะมีพระนาม สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ต่อจาก สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (สมเด็จพระเชษฐาธิราช) แต่ผมเองยังคนไม่พบว่าพระองค์ไหนใช้พระนามนี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นครองราชย์ก็ใช้ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ต่อจากพระนามนั้นเลย

อีกแนวทางหนึ่งคือ ผมไปค้นเจออีกเรื่องที่น่าสนใจว่า จริงๆ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ไม่ได้ใช้พระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 อย่างที่เราทราบกันว่าก่อนเสียกรุงฯ ท่านมีปัญหากับพระเจ้าเอกทัศน์ ต้องสละราชสมบัติให้ หนีไปผนวช ครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น (ตามที่ค้นมาบอก 2 เดือน) เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่า ท่านอาจไม่ได้มีเวลาที่จะเฉลิมพระนามอย่างเป็นทางการ และหากเราเชื่อถือตามข้อมูลนี้ ก็เป็นไปได้ว่าพระนาม “สมเด็จพระบรมราชาธิราช” สะดุดลงที่ลำดับ 3 (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) และเมื่อใช้บทวิเคราะห์จากข้อ 1) ที่ผมเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ “สมเด็จพระบรมราชา” กับ “สมเด็จพระบรมราชาธิราช” จะเป็นพระนามเดียวกัน ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครองราชย์ก็ใช้พระนามสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ต่อจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(ที่จริงๆแล้วอาจเป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ไม่ใช่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3)

สุดท้ายนี้นะครับ สำหรับ พระนามในตอนต้นๆ อย่างที่บอกว่ามันเคลียร์พอสมควร ไม่มีปัญหาพิจารณา เพราะเป็นพระนามที่เป็นลำดับต่อกัน อีกทั้งบางพระนามยังใช้ในราชวงศ์เดียวกัน

ส่วน 3 พระนามที่เป็นปัญหา ดังที่ผมได้วิเคราะห์ตามความเห็นของผมไว้แล้ว เพื่อนๆก็โปรดพิจารณาตามความเห็นของท่านถึงความเป็นไปได้เถิดครับ และหากวันใดผมมีโอกาสไปคนความเพิ่มเติม แล้วไปพบว่า มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ได้มีการใช้พระนามตามแบบที่เราคุยกันวันนี้ ปัญหาของพระนามทั้ง 3 ท่านนี้ ก็อาจคลี่คลาย แก้ความสงสัยไปได้ แต่ ณ เวลานี้ สำหรับตัวผมเองแล้วสามารถนำเสนอต่อเพื่อนๆได้ดีที่สุด ตามข้อมูลข้างต้นนี้นะครับ
ป.ล.สุดท้ายจริงๆ ถ้าผมจะแชร์เรื่องนี้หลายรอบอย่าว่ากันนะครับ เพราะผมใช่เวลาทำนานจริงๆ อยากให้ทุกท่านได้เห็น และนี่เป็นเรื่องที่ผมติดค้างเพื่อนๆไว้หลายวันแล้ว บอกจะมาเสนอตั้งนาน แต่ไม่มาซักที เพื่อนๆผู้ใจดีทั้งหลายอย่าว่ากันเลยนะครับ กราบขออภัย
สุดท้ายอันนี้เป็นไฟล์ Excel ที่ผมใช้ประกอบทำเรื่องนี้



ตัวร้าย-แพะรับบาป ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย



คือบุคคลที่ผมกำลังจะพูดถึงเนี่ย เป็นบุคคลที่เราผู้สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ มักจะพบถูกพูดถึงในแง่ไม่ดี เป็นคนที่ทำให้ชาติต้องประสบวิกฤติ เจอปัญหา คือเป็นตัวร้าย ประมาณนั้นแหละครับ บุคคลที่ผมพบเจอที่เข้าลักษณะแบบนี้ที่ชัดๆ ก็มี

1.พระยาจักรี ผู้เปิดประตูเมืองจนเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 อันนี้หลายท่านคงจะรู้จักเป็นอย่างดีแน่นอน เพราะถือว่า เป็นตัวร้ายสุดๆในประวัติศาสตร์เลยมั้ง เป็นไส้ศึก เปิดประตูเมืองให้ข้าศึก เป็นคนทรยศชาติเลยล่ะครับ แต่ข้อมูลของท่านนี้ก็ถือว่าคลุมเครือนะ ไม่มีหลักฐานว่าเกิดเมื่อใดและมีนามเดิมว่า อะไรไม่ปรากฏ(ผมลองค้นแล้ว) คือ มาโผล่อีกที เป็นพระยาจักรี โดนจับเป็นตัวประกัน แกล้งหนีมาได้ เปิดประตูเมืองให้พม่า ฯลฯ ท่านจะมีตัวตนจริง หรือเป็นเพียงคนที่ถูกแต่งขึ้นมาให้เป็นแพะรับบาป ต้นเหตุของการเสียกรุงฯ ทุกท่านก็ลองพิจารณาเอาเองเถิดครับ

2.พระเจ้าเอกทัศ ท่านนี้ มักจะถูกกล่าวถึงในลักษณะที่เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ เป็นต้นเหตุให้เสียกรุงฯครั้งที่ 2 พระบิดา (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เห็นว่าไม่มีความสามารถ จากข้อมูลคือ “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(พระเจ้าเอกทัศ)นั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาแลความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานุศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา) จึงให้ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต(สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เรียกว่า วางตัวเป็นกษัตริย์ในอนาคตนั่นแหละครับ ส่วนพระเจ้าเอกทัศ(กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) ให้ไปออกผนวช แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต พระเจ้าอุทุมพร ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าเอกทัศก็สึกออกมา พระเจ้าอุทุมพรกลัวจะวุ่นวาย เลยสละราชสมบัติให้ ตัวเองไปบวชแทน แต่เมื่อพม่ายกทัพมาท่านกลับไปขอให้พระเจ้าอุทุมพรสึกออกมาช่วยรบกับพม่า(อันนั้นสงครามกับพระเจ้าอลองพญา กรุงยังไม่แตกพระเจ้าอลองพญาสวรรค ตก่อน) แต่เมื่อพระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ยกทัพมาอีกที ก็ต้านไม่ไหวครับ เสียกรุงฯในที่สุด และท่านก็เป็นเหมือนแพะครับ กับเรื่องนี้

แต่กับเรื่องความสามารถ หรือความไร้ประสิทธิภาพของพระองค์นั้น ก็มีข้อมูลหลายอย่างที่บอกว่า จริงๆอาจไม่เป็นแบบนั้น พงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองของพม่า ได้บรรยายให้เห็นว่าในสงครามคราวเสียกรุงฯนั้น “ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเองก็ได้เตรียมการและกระทำการรบอย่างเข้มแข็ง มิได้เหลวไหลอ่อนแอแต่ประการใด” นอกจากนี้ ยังมีคำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏความว่า "(พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ คือ พระเจ้าเอกทัศ)ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง" ฉะนั้น หากจะกล่าวถึงท่านในแง่ไม่ดี ผมว่าเราต้องหาข้อมูลให้ถี่ถ้วนนะครับ

กลับกัน มีบุคคลท่านหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเห็นมีใครกล่าวถึงในแง่ไม่ดีเลย แต่สำหรับผมนะ ท่านมีส่วนอย่างมากในการที่ทำให้เสียกรุงศรีฯครั้งที่ 1 ท่านนั้นคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ตอนนั้นครองเมืองพิษณุโลก เห็นว่าบุเรงนองยกทัพมาคงจะสู้ไม่ไหว ก็ไปเข้ากับพม่า เมื่อบุเรงนองยกทัพไปตีกรุงศรีฯ ท่านก็ไปด้วยครับ ในฐานะทัพหลัง เมื่อตีกรุงศรีฯได้ ก็ได้ขึ้นครองกรุงศรีฯ ในฐานะประเทศราช คือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การกระทำของท่าน หากเปรียบเทียบกับท่านอื่นแบบกลางๆ ผมว่าก็ไม่ต่างจากพระยาจักรีเท่าไรเลย คือ ไปเข้ากับศัตรู มีส่วนทำให้ต้องเสียกรุงฯครั้งที่ 1 แต่ผมมีความเห็นส่วนตัวนะครับ ว่าที่ท่านไม่ค่อยถูกพูดถึงในด้านไม่ดี เพราะว่า ท่านเป็นบิดาของสมเด็จพระนเรศวร (ซึ่งผมก็ยกย่อง ชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระองค์ครับ) ผู้ที่เรายกย่องกันว่ากู้เอกราช(แม้ว่าจะมีการเรียกฐานะระหว่างไทย-พม่า ตอนนั้นว่า ไม่ใช่การกู้เอกราช แต่จะเรียกว่าอะไรก็ตาม ผมขอเรียกว่ากู้เอกราชแล้วแล้วกันนะครับ เพื่อความเข้าใจตรงกัน) แต่ลองมองมุมกลับ ท่านกู้เอกราชของชาติ จากพม่าซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากพระบิดาของท่านเอง แต่อย่างว่าล่ะครับ ตอนนั้น ชาติ ประเทศ มันยังไม่มีหรอก ผลประโยชน์ และความอยู่รอดของตัวเอง(และพวกพ้อง)นี่แหละ สำคัญสุด

***กระทู้นี้จะโดนด่าว่าไม่รักชาติป่าวหว่า???

ศาลเจ้ายะซุกุนิ

 ว่าด้วยเรื่อง “ศาลเจ้ายะซุกุนิ”

เพื่อนๆคุ้นหูกับศาลเจ้ายะซุกุนิไหมครับ ผมว่าถ้าใครดูข่าวต่างประเทศประจำ ต้องคุ้นแน่นอน เพราะสถานที่แห่งนี้มักจะมาพร้อมกับข่าวความขัดแย้งของประเทศญี่ปุ่น กับเพื่อนบ้าน คู่กรณีก็คือ จีน และเกาหลี
เราไปว่ากันที่อดีต ที่มาของศาลเจ้านี้กันก่อนดีกว่าครับ ในยุคเมจิ เกิดสงครามกลางเมืองภายในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่าสงครามโบะชิง (ผมเคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว ลองหาดูในเพจนะครับ) ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลโชกุนโทะกุกะวะและฝ่ายของผู้จงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิ สุดท้ายฝ่ายองค์จักรพรรดิเป็นผู้ชนะ สิ้นสุดยุคของโชกุนโทะกุกะวะที่ปกครองญี่ปุ่นยาวนานกว่า 260 ปี มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก องค์จักรพรรดิเมจิมีรับสั่งให้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามโบะชิง และพระราชทานชื่อว่า โตเกียวโชกนชะ ต่อมา จักรพรรดิเมจิ ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเป็นยะซุกุนิจินจะ ในปี พ.ศ. 2422 ซึ่งหมายถึง ประเทศที่สงบสุข
หลังจากนั้นศาลเจ้ายะซุกุนิถูกใช้เพื่อเป็นที่สถิตให้แก่เหล่าดวงวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 2,466,000 คน ด้วย ภายในศาลมีป้ายชื่อทหารที่เสียชีวิตระหว่างสงคราม บางคนมีชื่อเป็นอาชญากรสงครามรวมอยู่ด้วยกว่า 12 คน รวมทั้งนายฮิเดะกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการให้กองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับการอัญเชิญดวงวิญญาณให้มาที่สถิตอยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
ปัญหามันก็เกิดเอาตรงนี้นี่แหละครับ เพราะทหารหลายคนที่เสียชีวิตในสงคราม แล้วถูกอัญเชิญมาสถิตที่นี่ มีป้ายชื่อ หลายคนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่ออาชญากรรมสงครามอันโหดร้ายต่อชาวจีนและเกาหลี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประเพณีของผู้นำญี่ปุ่นในการสักการะดวงวิญญาณของทหารญี่ปุ่นจึงสร้างความไม่พอใจให้กับทั้งสองประเทศเป็นอย่างมาก (จริงๆที่นั่นก็มีดวงวิญญาณทหารที่เสียชีวิตในสงครามโบะชิงด้วยนะครับ) ทั้งสองประเทศเห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม บอกตรงๆคือทำร้ายจิตใจชาวจีน และเกาหลี ที่สูญเสียจากการกระทำของทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นนั่นแหละครับ
ผมขออนุญาตมองเรื่องนี้ทั้งสองมุมนะครับ เป็นเช่นนี้เสมอครับ ฮีโร่ของเรา อาจเป็นตัวร้ายของเขาก็ได้ ผมเข้าใจจีนและเกาหลีนะครับ เพราะทั้งสองประเทศต้องสูญเสียมากมายจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการนำของเหล่าทหารหลายท่านที่สถิตอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ การที่ผู้นำของญี่ปุ่นไปสักการะดวงวิญญาณเหล่านั้น เหมือนเป็นการตอกย้ำความเจ็บช้ำที่ชาวจีนและเกาหลีได้รับ ความไม่พอใจย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ผมก็เข้าใจมุมมองของญี่ปุ่นนะครับ เพราะอันที่จริงศาลเจ้าแห่ง ดั้งเดิมสร้างเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามโบะชิง ซึ่งเป็นสงครามครั้งสำคัญที่กำหนดความเป็นไป ที่ส่งผลต่อญี่ปุ่นในปัจจุบัน (ก็สำคัญพอๆกับสงครามกลางเมือง เหนือ-ใต้ อเมริกานั่นแหละครับ) พวกทหารในสงครามโลกครั้งที่สองมาทีหลัง แต่การกราบไหว้สักการะมีมาแต่เนิ่นนาน จบแทบจะเป็นประเพณีของชาวญี่ปุ่นไปแล้ว
บางทีถ้ามาลองคิดดู ก็แยกยากนะครับ ว่าคนๆนั้นเค้าขึ้นไปไหว้เนี่ย เค้าไหว้ใคร ทหารในสงครามโบะชิง ทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือไหว้แบบรวมๆ แต่ถ้าเราเป็นผู้นำญี่ปุ่นผมว่ากับเรื่องนี้ก็คิดหนักเหมือนกันครับว่าจะเอาไง ไปไหว้ จีน เกาหลี ไม่พอใจแน่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ,เศรษฐกิจ มีปัญหาแน่นอน แต่ถ้าไม่ไป อย่างที่เราพอจะทราบๆกัน ว่าญี่ปุ่น มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก ถ้าไม่ไปไหว้(ไม่แสดงความเคารพต่อผู้ที่ถือเป็นวีรบุรุษของชาติ) เพราะกลัวจีนกับเกาหลีจะโกรธ ท่านผู้นำคนนั้นนี่แหละครับจะโดนคนญี่ปุ่นโกรธ ความนิยมในตัวท่านก็ลดฮวบแน่นอน
ภาพประกอบ ศาลเจ้ายะซุกุนิ ปี 1873

9/15/2559

สงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses)

 สงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses) เรื่องนี้ คือผมอยากทำมานานแล้ว แต่ว่าไม่มีเวลาว่างๆมานั่งทำเลย และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ข้อมูลมันเยอะ ต้องใช้เวลาพอสมควร อีกอย่างคือ ผมจะพยายามใช้ข้อมูลที่รวบรวมนี้ อธิบายตามสไตล์ของผม เพื่อให้มันเข้าใจง่ายๆ เกิดประโยชน์แก่มิตรสหายผู้ติดตาม ที่สำคัญก็คือ เพื่อความเข้าใจของผมเองด้วยครับ

เริ่มกันก่อนคือ ดอกกุหลาบ ที่ว่านี่คืออะไร คือดอกกุหลาบที่เรากำลังพูดถึงเนี่ย คือ สัญลักษณ์ของราชวงศ์แลงแคสเตอร์ และราชวงศ์ยอร์ก ซึ่งเป็นสาขาย่อยของ ราชวงศ์แพลนแทเจเนต โดยราชวงศ์แลงแคสเตอร์ ใช้สัญลักษณ์กุหลาบแดง ราชวงศ์ยอร์ก ใช้สัญลักษณ์ดอกกุหลาบขาว

ไปว่ากันที่ราชวงศ์ราชวงศ์แพลนแทเจเนต ราชวงศ์นี้ดั้งเดิมเป็นตระกูลขุนนางจากฝรั่งเศส ต่อมาได้เข้ามาปกครองอังกฤษในช่วงปี 1154-1485 ซึ่งระหว่างนี้ มีราชวงศ์ย่อยของราชวงศ์แพลนแท เจเนต ปกครอง 3 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อ็องฌู (1154-1399) ราชวงศ์แลงแคสเตอร์ 1399-1471 และราชวงศ์ยอร์ก 1461-1485 (สังเกต ปีที่ทั้งสองราชวงศ์อยู่ในอำนาจ) กษัตริย์องค์สุดท้ายของสายแลงแคสเตอร์ คือ พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงครองราชย์สมบัติสองรอบ คือ 1422-1461 กับ 1470-1471 เช่นเดียวกับ กษัตริย์องค์แรกของสายยอร์ก คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พระองค์ก็ครองราชย์สมบัติสองรอบ เช่นกัน คือ 1461-1470 กับ 1471-1483 อธิบายเพื่อความเข้าใจ พระเจ้าเฮนรีที่ 6(แลงแคสเตอร์) ครองราชย์ 1422-1461 จากนั้นสลับมา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4(ยอร์ก) 1461-1470 แล้วก็มาเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 6(แลงแคสเตอร์) อีกรอบ 1470-1471 จนสุดท้ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4(ยอร์ก) ได้กลับมาครองราชย์อีกที 1471-1483 ช่วงรอยต่อระหว่างราชวงศ์แลงแคสเตอร์และราชวงศ์ยอร์ก ที่มีความวุ่นวาย สับสน นี่แหละครับ คือ ช่วงที่เกิด สงครามดอกกุหลาบ 1455-1485

จุดเริ่มต้นเรื่องก็คือ หลังสิ้น พระเจ้าเฮนรีที่ 5 (แลงแคสเตอร์) พระเจ้าเฮนรีที่ 6 (กษัตริย์องค์สุดท้ายของแลงแคสเตอร์ที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้) พระโอรสยังเป็นทารกอยู่ ปัญหาเกิดจากการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ สายแลงแคสเตอร์โดยพระเจ้าเฮนรีที่ 6 (จริงๆก็คือฝ่าย,พวกของพระองค์นั่นแหละครับ เพราะตอนนั้นท่านเด็กอยู่) อ้างสิทธิจากจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ (โอรสองค์ที่สามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ซึ่งครองราชย์สมบัติตั้งแต่สมัยราชวงศ์ย่อยอ็องฌู และเป็นบิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 กษัตริย์พระองค์แรกของสายแลงแคสเตอร์) จอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ นี้ เป็นต้นราชสกุลแลงคาสเตอร์ โดยผู้สืบเชื้อสายจากท่านก็มี พระเจ้าเฮนรีที่ 4,5,6 กษัตริย์ราชวงศ์ย่อยสายแลงแคสเตอร์นั่นแหละครับ

เมื่อแลงแคสเตอร์อ้างสิทธิเช่นนั้น (จริงๆในประเด็นนี้ผมงงว่า จะไปอ้างย้อนขึ้นไปถึงโน่นทำไม อ้างแค่พระเจ้าเฮนรีที่ 6 เป็นลูกพระเจ้าเฮนรีที่ 5 กษัตริย์องค์ก่อนก็น่าจะพอแล้วนะ แต่กับประเด็นนี้มันอะไร ยังไง เดี๋ยวผมขอค้นเพิ่มในโอกาสหน้าครับ) ริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์ก ก็คัดค้าน ริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์ก เป็นใคร ท่านเป็นลูกของ ริชาร์ด แห่ง โคนิสเบิร์ก(ขอชื่อแบบสั้นๆนะครับ) ริชาร์ด แห่ง โคนิสเบิร์ก เป็นลูกของเอ็ดมันด์แห่งแลงลี ย์ ดยุคแห่งยอร์กที่ 1 ซึ่งท่านนี้ เป็นต้นราชสกุลยอร์ก และเป็นน้องของจอห์น แห่ง กอนต์ ดยุกที่ 1 แห่ง แลงแคสเตอร์ คือสรุปก็คือ ทั้งแลงแคสเตอร์และยอร์ก ต่างสืบเขื้อสายมาจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แต่แยกสายตามลูกชายแต่ละคนนั่นเอง เมื่อแลงแคสเตอร์อ้างสิทธิไปแบบนั้น ทางยอร์กก็อ้างสิทธิเช่นกัน ก็เลยเกิดความขัดแย้งนั่นเอ

การสู้รบครั้งแรกก็คือ ยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ ครั้งที่ 1 ในปี 1455 การสู้รบนี่ก็คือ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะนั่นแหละครับ และตัวละครมันเยอะมาก ขอเล่าแบบสังเขปนะครับเอาที่สำคัญๆ รบกันในช่วงแรกๆแลงแคสเตอร์ก็ ยังพอคุมเกมส์ได้ แต่พอมาถึงปี 1461 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 (เป็นบุตรของริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์ก) กองทัพยอร์ก สามารถเอาชนะได้เด็ดขาดที่ยุทธการที่โทว์ทัน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 สายยอร์กจึงได้ครองแผ่นดิน (ครองราชย์ครั้งแรก 1461-1470) หลังจากครองราชย์ปรากฏว่าพระองค์ขัดแย้งกับผู้สนับสนุนหลาย คน หลักๆคือ เอิร์ลแห่งวอริก ที่พยายามยกน้องชาย จอร์จ ดยุกแห่งแคลเรนซ์ เป็นพระมหากษัตริย์ และฟื้นฟูพระเจ้าเฮนรีที่ 6 กลับสู่ราชสมบัติ(ครองราชย์ครั้งที่สอง 1470-1471) แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ก็สามารถกลับมาประสบชัยชนะได้อีกครั้งอย่างสมบูรณ์ในปี 1471 นั่นเอง เอิร์ลแห่งวอริกถูกสังหาร รวมทั้ง พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ถูกสังหารเช่นกัน ยุติลำดับการสืบราชสันตติวงศ์โดยตรงของสายแลงแคสเตอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ครองราชย์ต่อมาซึ่งเป็นครั้งที่สอง (1471-1483)

เมื่อสิ้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 อย่างกะทันหัน ในปี 1483 มีความกังวลว่า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 พระโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ขึ้นครองราชย์นั้น จะตกอยู่ใต้อิทธิพลของตระกูลวูดวิลล์ของพระนางเอลิซาเบธ(มารดาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5) ริชาร์ด ดยุก แห่ง กลอสเตอร์ (พระอนุชาองค์สุดท้องของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4) จึงมีการดำเนินการหลายๆอย่าง จนสุดท้าย กล่าวหาว่าการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และพระนางเอลิซาเบธเป็นการเสกสมรสที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ฉะนั้นพระราชโอรสทั้งสองพระองค์จึงเป็นลูกนอกคอกและไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ และพระองค์เองก็ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ ในนาม พระเจ้าริชาร์ดที่ 3

หลังจากครองราชย์ ก็มีผู้ต่อต้าน พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ที่เห็นชัดๆคือ ดยุก แห่ง บักกิงแฮม ที่ตอนแรกสนับสนุนพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้ทำการก่อกบฏ กลับไปสนับสนุน นำการปฏิวัติเพื่อที่จะยกเฮนรี ทิวดอร์ ผู้เป็นฝ่ายแลงแคสเตอร์ขึ้นครองราชย์ การก่อการครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จ แต่ในภายหลัง เฮนรี ทิวดอร์ ก็สามารถรวบรวมกำลังเอาชนะกองทัพของพระเจ้าริชาร์ด ที่ 3 ในยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ ในปี 1485 พระเจ้าริชาร์ด ที่ 3 ถูกสังหารในสนามรบ เฮนรี ทิวดอร์ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 7 เริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ ราชวงศ์ทิวดอร์ และเป็นการสิ้นสุดสงครามดอกกุหลาบ

มาว่ากันนะครับ ว่า เฮนรี ทิวดอร์ เป็น แลงแคสเตอร์สายไหน ยังไง บิดา ของ เฮนรี ทิวดอร์ คือ เอ็ดมันด์ ทิวดอร์ เอิร์ลที่ 1 แห่งริชมอนด์ เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าเฮ นรีที่ 6 แต่การอ้างสิทธิ เฮนรี ทิวดอร์ อ้างจากสายของแม่ คือ มาร์กาเรต โบฟอร์ต เคาน์เตส ที่สืบเชื้อสายของ จอห์น โบฟอร์ต เอิร์ลที่ 1 แห่งซัมเมอร์เซต และท่านนี้ก็เป็นลูกของจอห์นแห่ งกอนต์ ดยุกที่ 1 ต้นราชสกุลแลงคาสเตอร์ ที่อธิบายไปตอนต้นนั่นเอง คือ เฮนรี ทิวดอร์ เป็นสายแลงแคสเตอร์ ครับ แต่ก็ถือว่าเป็นสายที่ห่างมาก

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการสิ้น สุดสงครามดอกกุหลาบ อีกอย่างคือ การสมรสของพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 7 ซึ่งถือเป็นสายแลงแคสเตอร์ กับ เอลิซาเบธ แห่ง ยอร์ก ซึ่งเป็นธิดาของ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 จากสายยอร์ก ทำให้ตราของราชวงศ์ทิวดอร์เป็นดอกกุหลาบที่รวมระหว่างสีแดงกับขาว อันเป็นสัญลักษณ์ของแลงแคสเตอร์ กับ ยอกร์ก นั่นเอง

จบบริบูรณ์เสียที เพื่อความเข้าใจ ขอให้เพื่อนๆดู รายพระนามพระมหากษัตริย์อังกฤษ ประกอบนะครับ
https://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระมหากษัตริย์อังกฤษ

โบบุนากะ - ฮิเดโยชิ - อิเอยาสุ

ตามสัญญาที่ผมบอกว่าจะวิเคราะห์สามท่านนี้ตามมุมมองของผม ซึ่งบอกไว้ก่อน ว่ามันคงจะยาวมากๆ(เตือนก่อน ยาวจริงๆ 555) เพราะถ้าได้พูดเรื่องนี้ ผมว่ามันจะไหล แต่ก่อนจะไปวิเคราะห์ มันก็ต้องมีเกริ่นประวัติแต่ละคนกันพอสังเขป งั้นเรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

-เกริ่นนำสักนิด ก่อนถึงยุคที่สามท่านนี้ก้าวขึ้นมา ญี่ปุ่นอยู่ในยุคที่เรียกว่า “ยุคเซ็งโงะกุ” เป็นยุคแห่งความไม่สงบอันเกิดจากการที่โชกุนในตระกูลอะชิคางะเสื่อมอำนาจ(โชกุนในตะกูลนี้ เป็นโชกุนในเรื่องอิคคิวซัง โชกุนที่ปรากฏในเรื่องคือ โชกุนโยชิมิสึ อะชิคางะ เป็นโชกุนลำดับสามของตระกูลนี้) บรรดาไดเมียวต่างพากันตั้งตัวเป็นอิสระ โดยเฉพาะที่อยู่ห่างเมืองหลวงคือเกียวโตมากๆ เกิดการแก่งแย่งรบพุ่งกันของบรรดาไดเมียวจากแคว้นต่างๆ จนมีผู้จุดประกายการยุติกลียุคนี้ โดยการรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียว บุคคลท่านนั้นคือ โอดะ โนบุนากะ

-โอดะ โนบุนากะ เกิดในตระกูลไดเมียวของแห่งแคว้นโอวาริ(อยู่แถบภาคกลางตอน ใต้ของเกาะฮอนชู เรียกกันว่าแถบคันไซ) เป็นบุตรของโอดะ โนบุฮิเดะ ไดเมียวของแห่งแคว้นโอวาริ กับภรรยาเอก มีชื่อตอนแรกว่า “คิปโปชิ” ด้วยความที่เป็นบุตรคนโตสุดกับภรรยาเอก ทำให้ท่าน เป็นอันดับหนึ่งของแคนดิเดตที่จะขึ้นเป็นไดเมียวของแคว้น แต่ท่านก็ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาซามูไร,ข้ารับใช้ของตระกูล รวมถึงแม่แท้ๆเท่าไร แต่ด้วยการสนับสนุนของบิดา และฮิราเตะ มาซาฮิเดะ ที่บิดาตั้งให้เป็นอาจารย์คอยสั่งสอน ทำให้ยังคงสถานะทายาทของตระกูลไว้ได้

มาว่ากันถึงสถานการณ์ของแคว้นโอวาริและตระกูลโอดะกันบ้าง ตระกูลที่มีอำนาจคุกคามแถวๆนี้ก็จะมีตระกูลอิมางาวะ ตระกูลนี้ครอง 3 แคว้นทางตะวันออกของแคว้นโอวาริ และตระกูลไซโต ผู้ครองแคว้นมิโนะ ซึ่งอยู่ทางเหนือ เมื่ออายุ 12 คิปโปะชิผ่านพิธีเง็มปุกุ(พิธีผ่านความเป็นผู้ใหญ่ของผู้ชาย ไว้ผมจะมาว่าเรื่องพิธีนี้เต็มๆในโอกาสหน้าครับ) ได้รับชื่อว่า โอดะ โนบุนากะ พ่อของท่านจึงอยากสร้างสัมพันธ์กับตระกูลไซโต แห่งแคว้นมิโนะ จึงให้มาซาฮิเดะ ไปสู่ขอลูกสาวไดเมียวแคว้นมิโนะ มาเป็นภรรยาของโนบุนากะ

เมื่อสิ้นบิดา คือ โนบุฮิเดะ ด้วยความที่โนบุนากะ ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ทำให้อำนาจตกอยู่กับโอดะ โนบุโตโมะ ซึ่งมาจากสาขาย่อยของตระกูล โนบุโตโมะวางแผนจะสังหารโนบุนากะ แต่โนบุนากะรู้ก่อน แผนจึงล่มไป ต่อมาโนบุนากะจึงลอบสังหารโนบุโตโมะ เป็นผลสำเร็จ นอกจากการแข่งขันกับสาขาย่อยของตระกูลแล้ว โนบุนากะยังต้องห้ำหั่น กับน้องแท้ๆของตนเอง คือ โอดะ โนบุยุกิ ที่มีผู้สนับสนุนหลายคนรวมทั้งแม่ของโนบุนากะเองด้วย โนบุนากะ ปราบน้องสำเร็จ แต่ก็ไว้ชีวิตน้องตามคำขอของแม่ แต่โนบุยุกิก็วางแผนยึดอำนาจอีกครั้ง ครั้งนี้โนบุนากะแกล้งป่วย ล่อให้น้องมาเยี่ยม จึงทำการฆ่าเสีย นอกจากนี้ แผนการผูกสัมพันธ์กับแคว้นมิโนะที่พ่อของโนบุนากะวางแผนไว้ก็พังลง เมื่อไซโต โยชิตาสึ ก่อกบฏต่อบิดาซึ่งเป็นพ่อตาของโนบุนากะ ขึ้นเป็นไดเมียวแคว้นมิโนะสำเร็จ

การขึ้นสู่อำนาจของโนบุนากะ มีจุดเริ่มต้นสำคัญจากเหตุการณ์ที่ อิมางาวะ โยชิโมโตะ แห่งตระกูลอิมางาวะ ผู้ครอง 3 แคว้นทางตะวันออกของแคว้นโอวาริ ต้องการยกทัพไปยึดเกียวโต ซึ่งก็ต้องผ่านแคว้นโอวาริ บรรดาขุนพลของแคว้นเห็นว่าควรให้ทัพของโยชิโมโตะผ่านไปโดยดี เพราะทัพของโยชิโมโตะ มีกำลังมากกว่ามาก แต่โนบุนากะยืนยันจะขัดขวาง โดยมีแผนบุกที่เป้าหมายคือ โยชิโมโตะ แผนการนี้ประสบผลสามารถสังหารโยชิโมโตะได้สำเร็จ ทำให้โนบุนากะมีชื่อเสียงเลื่องลือ นอกจากนี้ยังสามารถยึดแคว้นมิโนะได้อีกด้วย ทำให้โนบุนากะประกาศนโยบายรวมญี่ปุ่น ภายใต้สโลแกน “เท็งกะ ฟุบุ” หรือ ปกครองแผนดินด้วยการทหาร

แต่หนทางที่จะขึ้นสู่อำนาจ มันต้องเจาะที่เกียวโต ซึ่งเป็นที่พำนักของโชกุน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่แท้จริง(ในตอนนั้น) ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้นโชกุนอา ชิคางะ โยชิเตรุ ถูกสองขุนพลคือ มาซึนางะ ฮิซาฮิเดะ และมิโยชิ โยชิซึงุ วางแผนสังหารสำเร็จ น้องชายของโชกุนอาชิคางะ โยชิเตรุ คือ อาชิคางะ โยชิอากิ จึงขอให้โนบุนากะ ยกทัพไปเกียวโตเพื่อแก้แค้นแทนพี่ โนบุนะกะก็รับคำ ระหว่างทางต้องผ่านแคว้นโอมิ ซึ่งไดเมียวตระกูลรกกากุของแคว้นนั้นไม่ยอมให้ผ่าน(คุ้นๆไหมครับ) แต่โนบุนากะก็สามารถปราบแคว้นนั้น ลงได้อย่างรวดเร็ว สามารถบุกยึดเกียวโตได้ มาซึนางะ ฮิซาฮิเดะ และมิโยชิ โยชิซึงุ เข้ามาสวามิภักดิ์ โนบุนากะก็ได้ตั้ง อาชิคางะ โยชิอากิ ขึ้นเป็นโชกุนหุ่นเชิด และปฏิเสธทุกตำแหน่งที่โชกุนใหม่เสนอให้ เพราะเห็นว่าชักใยเบื้องหลังที่แท้จริงสำคัญกว่าตำแหน่งเบื้องหน้า

แต่เมื่อต้องตกเป็นหุ่นเชิด เป็นใครก็คงไม่แฮปปี้ เช่นเดียวกับโชกุนอาชิคางะ โยชิอากิ ด้วยเหตุนี้โชกุนโยชิอากิจึงบอกให้อาซากุระ โยชิกาเงะ ไดเมียวแคว้นเอจิเซง ยกทัพมาขับไล่โนบุนากะ เพื่อคืนอำนาจให้ตนเอง(แล้วรู้ได้ยังไงว่าโยชิกาเงะจะไม่ชักใยตนเองเหมือนโนบุนากะ) แต่เรื่องนี้รู้ถึงโนบุนากะ จึงให้ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ(ต่อมาคือโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ตัวละครหลักของเราอีกคน) บุกไปรบกับแคว้นเอจิเซง ชนะ 1 รอบ แต่มันยังไม่จบแค่นั้น มันมีรอบสอง เพราะอาซากุระแห่งแคว้นเอจิเซง มีพันธมิตรคือแคว้นโอมิ มีไดเมียวคืออาซาอิ นางามาสะ ซึ่งเป็นน้องเขยของโนบุนากะ(แคว้นนี้น่าจะเป็นแคว้นเดียวกับที่โนบุนากะปราบก่อนบุกเกียวโต ตอนนั้นไดเมียวตระกูลรกกากุ ตอนนี้มาเป็นตระกูลอาซาอิ สัญนิษฐานว่าที่ได้มาเป็นไดเมียวอาจเพราะว่าเป็นน้องเขยโนบุนากะนั่นแหละครับ) โนบุนากะก็หวังว่าน้องเขยจะไม่มารบกับตน แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ น้องเขยไปช่วยพันธมิตรรบกับโนบุนากะ แต่ก็แพ้ครับ สุดท้ายทั้งสองต้องกระทำการเซ็ปปุกุ หรือ ฮาราคีรี ตายไปทั้งสองคน นอกจากนี้ โนบุนากะก็ได้ปราบกบฏอิกโก อิกกิ(เป็นการรวมตัวของชาวบ้านและพระสงฆ์ต้านการปกครองของชนชั้นซามูไร) และกบฏโซเฮ(พวกพระนักรบ ซึ่งได้ช่วยตระกูลอาซากุระและอาซาอิ ในการรบกับโนบุนากะ) ได้สำเร็จ จากนั้นโนบุนากะก็ทำการปลดโชกุนอาชิคางะ โยชิอากิ ยกเลิกระบอบโชกุน(ปี 1573)

เมื่อครองอำนาจมั่นคงในแถบคันไซ เป้าหมายต่อไปคือทางตะวันออก ซึ่งมีไดเมียวทรงอำนาจสองคนคือ ทาเคดะ ชิงเง็น แห่งแคว้นคาอิ และอุเอซุงิ เคนชิน แห่งแคว้นเอจิโงะ ปี 1572 โชกุนอาชิคางะ โยชิอากิ ขอให้ทาเคดะ ชิงเง็น ช่วยปราบโนบุนากะ(อีกแล้วครับ จะเห็นว่าเป็นช่วงก่อนโดนโนบุนากะปลด แค่ 1 ปีเท่านั้น) ชิงเง็น จึงบุกแคว้นโทโตมิ ซึ่งเป็นของโตกุงาวะ อิเอยาสุ(ตัวละครหลักของเราอีกคน) ปรากฏ อิเอยาสุ แพ้ครับ แต่ต่อมาไม่นานชิงเง็นดันมาตาย ไดเมียวคนใหม่ก็พ่ายแพ้แก่อิเอยาสุในเวลาต่อมา ส่วนอุเอซุงิ เคนชิน แห่งแคว้นเอจิโงะก็ต้องพ่ายแพ้ต่อโนบุนากะเช่นกัน โนบุนากะจึงเข้าครอบครองญี่ปุ่นภาคตะวันออกในที่สุด

ส่วนจุดจบของโนบุนากะ ผมขอใช้เรื่องที่ผมเคยทำไว้เมื่อนานมาแล้วมาเป็นบทส่งท้ายของโอดะ โนบุนากะ นะครับ เชิญเข้าไปดูตามนี้เลย http://ifbloger.blogspot.com/2016/09/vs.html

 -โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ตัวละครหลักท่านที่สองของเรา เกิดในแคว้นโอวาริ ครอบครัวชาวนาทหาร แรกเริ่มมีชื่อว่า “ฮิโยชิมารุ” ต่อมาบิดาเสียชีวิต แม่มีสามีใหม่ซึ่งฮิเดโยชิไม่ค่อยถูกกับพ่อเลี้ยง จึงหนีออกจากบ้านไปผจญภัยเสี่ยงโชค โดยใช้ชื่อว่า “คิโนชิตะ โทกิชิโร่” ได้เป็นข้ารับใช้ของ มะสึชิตะ ยุกิสึนะ ผู้ซึ่งเป็นซะมุไรที่รับใช้อยู่กับตระกูลอิมางาวะอีกทอดหนึ่ง(ตระกูลที่ครองสามแคว้นที่กล่าวไปแล้วในเรื่องของโนบุนากะ แปลว่าตอนแรกฮิเดโยชิ กับโนบุนากะถือว่าอยู่คนละฝ่ายกัน) ส่วนแม่นั้น มีลูกกับสามีใหม่สองคน คือ นางซาโตะ หรือต่อมาคือ นางอาซาฮี และโคทาเกะ หรือต่อมาคือโทโยโทมิ ฮิเดนางะ

ต่อมาโทกิชิโร่(ชื่อขณะนั้น) กลับมาที่แคว้นโอวาริ เข้ารับใช้ตระกูลโอดะ ซึ่งในขณะนั้นมีผู้นำคือโอดะ โนบุนากะ โดยมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลรองเท้าของโนบุนากะ ก็ได้รับโอกาสสร้างผลงานมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ” ผลงานในการรบครั้งแรกคือ ศึกอาเนงาวะ รบชนะอาซากุระแห่งแคว้นเอจิเซง และอาซาอิ นางามาสะ แห่งแคว้นโอมิ เมื่อรบชนะเขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นไดเมียวแคว้นโอมิ แทนตระกูลอาซาอิ และก็รับใช้โอดะ โนบุนากะ ในสงครามอีกหลายครั้ง ซึ่งมีครั้งสำคัญๆคือการบุกไปทางตะวันตก ก็ได้รับชัยชนะเรื่อยมา จนได้รับข่าวโนบุนากะถูกลอบสังหาร(จริงๆโบบุนากะฆ่าตัวตายเอง)จึงได้กลับมา เพื่อแก้แค้นให้แก่นายของตนและฆ่าอาเกชิ มิสึฮิเดะ ได้สำเร็จ

เมื่อเป็นผู้แก้แค้นให้โนบุนากะ ทำให้ฮิเดโยชิก้าวขึ้นมาเป็นผู้ มีอำนาจในตระกูลโอดะ และเกิดการแข่งขันของโอดะ โนบุกาสึ กับโอดะ โนบุตากะ บุตรชายคนที่ 2 และ 3 ของโนบุนากะ จึงเกิดการประชุมเพื่อเลือกผู้นำตระกูลโอดะ ซึ่งฮิเดโยชิประกาศให้ ให้ซันโปชิ หรือต่อมาคือ โอดะ ฮิเดโนบุ บุตรชายของโอดะ โนบุทาดะ ซึ่งเป็นหลานชายของโนบุนากะ ซึ่งมีอายุเพียงสองขวบเป็นผู้สืบทอดตระกูลโอดะ ทำให้ขุนพลอื่นๆไม่พอใจเห็นว่าฮิเดโยชิตั้งซันโปชิ เพื่อเป็นหุ่นเชิด ส่งผลให้ขุนพลตระกูลโอดะเริ่มที่จะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนฮิเดโยชิ และฝ่ายที่ต่อต้านฮิเดโยชิ นำโดยชิบาตะ คาสึอิเอะ

สงครามระหว่างฮิเดโยชิ และชิบาตะ คาสึอิเอะ จึงเกิดขึ้นในที่สุด จบลงด้วยชัยชนะของฮิเดโยชิ เมื่อกำจัดชิบาตะ คาสึอิเอะ ออกไปได้สำเร็จแล้ว ปรากฏว่าโอดะ โนบุกาสึ ได้ร้องขอให้โตกุงาวะ อิเอยาสุ ช่วยเหลือให้ตนขึ้นเป็นผู้นำตระกูลโอดะ จึงเกิดสงครามระหว่างฮิเดโยชิ กับอิเอยาสุ ผลของสงครามไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนต้องเจรจาสงบศึก โดยฮิเดโยชิได้ส่งน้องสาวต่างมารดาของตน คือนางอาซาฮี(กล่าวถึงไปแล้ว) ไปเป็นภรรยาเอกของอิเอยาสุ และส่งมารดาของตนไปเป็นตัวประกันที่แคว้นมิกาวะ

เป้าหมายการรวมญี่ปุ่นของฮิเดโยชิ เริ่มจากการที่มีความต้องการอยากจะเป็นโชกุน แต่ไม่สามารถเป็นได้เนื่องจากไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมินาโมโตะ(รายละเอียดตรงนี้จะค้นมาเพิ่มอีกทีครับ) ฮิเดโยชิจึงเข้ารุกรานเกาะชิโกกุ ซึ่งศิโรราบโดยดี จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็น "คัมปากุ” หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระจักรพรรดิ รวมทั้งได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่จากพระจักรพรรดิว่า “โทโยโทมิ”

จากนั้นฮิเดโยชิก็บุกเกาะคิวชู เมื่อปราบปรามสำเร็จ ฮิเดโยชิพบว่าเกาะนี้เต็มไปด้วยคริสเตียน จึงได้มีประกาศขับไล่คริสเตียนและมิชชันนารี เมื่อปราบฝั่งตะวันตกเรียบร้อย ก็เหลือไดเมียวที่ทรงอำนาจเพียงตระกูลเดียวหลงเหลืออยู่ นั่นคือตระกูลโฮโจในภูมิภาคคันโตทางตะวันออก แต่ทว่าตระกูลโฮโจนั้น เป็นพันธมิตรกับโตกุงาวะ อิเอยาสุแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ฮิเดโยชิก็ยังคงยืนกรานที่จะขอความช่วยเหลือจากอิเอยาสุในการปราบปรามตระกูลโฮโจ สงครามเป็นไปด้วยความหวาดระแวงแต่ก็สามารถปราบตระกูลโฮโจได้สำเร็จ หลังสงครามฮิเดโยชิยึดแคว้นมิกาวะของอิเอยาสุ แล้วให้ไปปกครองคันโตอันเป็นดินแดนที่เคยเป็นของตระกูลโฮโจ เพื่อเป็นการขับไล่อิเอยาสุอันเป็นคู่แข่งคนสำคัญของฮิเดโยชิไปอยู่ทางตะวันออกอันห่างไกล อิเอยาสุจึงย้ายฐานที่มั่นไปยังปราสาทเอโดะ(เมืองโตเกียวในปัจจุบัน โดยหารู้ไม่ว่าที่นี่แหละจะเป็นฐานที่มั่นของอิเอยาสุในอนาคต) ต่อจากนั้น ไดเมียวแห่งภูมิภาคโทโฮกุทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของเกาะฮอนชูเข้าสวามิภักดิ์ต่อฮิเดโยชิ จึงเท่ากับว่าเป้าหมายการรวบรวมอาณาจักรญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่สมัยของโอดะ โนบุนากะนั้น เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ในยุคของฮิเดโยชิ

ฮิเดโยชินั้น มีลูกชายแต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก จึงรับเอาหลานชายคือ โทโยโทมิ ฮิเดซึงุ เป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งเป็นคัมปากุแทนตนเอง ส่วนตนเองนั้นดำรงตำแหน่งเป็นไทโค หรือผู้สำเร็จราชการที่สละตำแหน่งแล้ว แต่ต่อมาฮิเดโยชิมีบุตรชายอีกคน ชื่อ “ฮิโรอิมารุ” ทำให้มีความต้องการให้ลูกชายสืบทอดอำนาจ จึงได้มีคำสั่งให้ปลดคัมปากุฮิเดสึงุออกจากตำแหน่งทายาทและเนรเทศไปยังเขาโคยะ สองปีต่อมาใน ฮิเดโยชิ จึงมีคำสั่งให้ฮิเดะสึงุทำเซ็ปปุกุเสียชีวิตไป และนำตัวภรรยาเอกภรรยาน้อยและบุตรทั้งหมดของฮิเดสึงุร่วมหลายสิบชีวิตมาประหารชีวิตในเมืองเกียวโต

ความน่าสนใจอีกอย่างของฮิเดโยชิคือ การบุกเกาหลี ซึ่งผมจะทำเรื่องนี้มาเสนอแบบเต็มๆอีกครั้งหนึ่ง

จุดจบของฮิเดโยชิเริ่มจากอาการ ล้มป่วย ขณะสงครามเกาหลียังไม่จบ ด้วยความที่ลูกท่านคือ คือฮิโรอิมารุ หรือ โทโยโทมิ ฮิเดโยริ อายุเพียงห้าขวบ ก็เกรงว่าเมื่อตนเสียชีวิต ไดเมียวคนอื่นจะขึ้นมาชิงอำนาจ จึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการขึ้น ได้แก่ “โงไทโร่”(อิเอยาสุอยู่ในนี้) หรือผู้อาวุโสทั้งห้า ประกอบด้วยไดเมียวผู้ทรงอำนาจที่สุดในเวลานั้นจำนวนห้าท่าน และยังมีคณะผู้บริหารที่ทำหน้าที่บริหารงานหลังจากที่ไทโคถึงแก่อสัญกรรม จำนวนห้าคน เรียกว่า“โงะบุเกียว”(อิชิดะ มิสึนาริ อยู่ในนี้) แต่หลังจากฮิเดโยชิเสียชีวิตด้วยวัย 61 ปี เหตุการณ์ก็ไม่เป็นดังที่ฮิเดโยชิประสงค์ จากการก้าวขึ้นมาของโตกุงาวะ อิเอยาสุ ซึ่งเป็นตัวละครหลักท่านสุดท้ายที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป

-โตกุงาวะ อิเอยาสุ ตัวละครหลักท่านสุดท้าย แรกเริ่มมีชื่อว่า “ทาเกชิโยะ” อันเป็นชื่อบังคับของบุตรชายคน แรกของตระกูลมาสึไดระ เป็นบุตรชายคนแรกของ มาสึไดระ ฮิโรตาดะ ไดเมียวแห่งแคว้นมิกาวะ ช่วงนั้นตระกูลโอดะ และอิมางาวะ(ผู้ครอง 3 แคว้น) แข่งขันมีอำนาจในแถบคันไซ ด้วยความที่ตระกูลมาสึไดระเป็นตระกูลเล็ก จึงต้องเลือกข้างสักข้างหนึ่ง โอดะ โนบุฮิเดะ (พ่อของโนบุนากะ)ได้เข้ารุกรานแคว้นมิกาวะ ทำให้ฮิโรตาดะตัดสินใจนำตระกูลมาสึไดระเข้าสวามิภักดิ์ต่อตระกูลอิมางาวะ โดยส่งบุตรชายคือ ทาเกชิโยะ อายุเพียงหกปีไปเป็นตัวประกัน ต่อมาฮิโรตาดะเสียชีวิต ทาเกชิโยะจึงต้องสืบทอดตำแหน่งไดเมียวแห่งมิกาวะ และผู้นำตระกูลมาสึไดระ ทั้งที่อายุเพียงเจ็ดปีเท่านั้น และยังต้องเป็นตัวประกันอยู่ด้วย(ไม่งงนะครับ)

เมื่อเติบโตขึ้น ทาเกชิโยะได้เข้าพิธี เง็มปุกุ(พูดถึงไปแล้ว) และได้แต่งงานกับนางซึกิยามะ หลานสาวของอิมางาวะ โยชิโมโตะ(ผู้นำตระกูลอิมางาวะ) พร้อมทั้งได้รับชื่อของผู้ใหญ่ว่า มาสึไดระ โมโตยาซุ และได้รับการปล่อยตัวให้กลับไปยังปราสาทโอกาซากิ เพื่อปกครองแคว้นมิกาวะต่อไปในฐานะข้ารับใช้ของตระกูลอิมางาวะ โมโตยาซุจับศึกครั้งแรกมีหน้าที่ส่งเสบียงเมื่อคราวที่โอดะ โนบุนากะ ยกทัพเข้าล้อมปราสาทเทราเบะ แต่ถูกทัพของโนบุนากะตีแตกไป ต่อมา อิมางาวะ โยชิโมโตะ ได้ถูกทัพของโอดะ โนบุนากะสังหารไปในยุทธการโอเกฮาซามะ(คราวที่อิมางาวะ โยชิโมโตะ ต้องการเดินทัพผ่านแคว้นโอวาริ เพื่อยึดเกียวโต)

เมื่ออิมางาวะ โยชิโมโตะ พ่ายแพ้ต่อโนบุนากะ มาสึไดระ โมโตยาซุก็ผันตัวเองไปอยู่ฝ่ายโนบุนากะ มีการสร้างสัมพันธ์โดยให้ลูกชายแต่งกับลูกสาวโนบุนากะ ร่วมรบกับโนบุนากะหลายครั้ง ทั้งการปราบปรามพระสงฆ์ที่เรียกว่าอิกโก อิกกิ(กล่าวถึงไปแล้ว) ปราบอิมางาวะ อุจิซาเนะ(บุตรชายของอิมางาวะ โยชิโมโตะ) ปราบตระกูลอาซาอิ และอาซากุระ ชัยชนะครั้งนี้ทำให้โอดะ โนบุนากะ มีอำนาจเหนือแถบคันไซอย่างสมบูรณ์ และยังเอาชนะตระกูลทาเกดะแถบคันโตในทางตะวันออก ได้อีกด้วย นอกจากนี้โมโตยาซุ ได้เปลี่ยนชื่อและชื่อตระกูลของตนเองเป็น โตกุงาวะ อิเอยาสุ

หลังยุคโนบุนากะเข้าสู่ยุคฮิเดโยชิ อิเอยาสุถือเป็นผู้ที่มีกำลังมาก เป็นขวากหนามสำคัญของฮิเดโยชิในการควบคุมอำนาจในญี่ปุ่น ประกอบกับโอดะ โนบุกาสึ บุตรชายคนที่สองของโนบุนากะ ขอความช่วยเหลือให้อิเอยาสุช่วยปราบฮิเดโยชิ การรบของทั้งสองจึงเกิดขึ้น ไม่ปรากฏผู้แพ้ชนะจนต้องเจรจาสงบศึก อิเอยาสุยอมเป็นพันธมิตรของฮิเดโยชิ และได้ส่งน้องสาวมาเป็นเมียเอกคนใหม่ของอิเอยาสุ(ส่วนคนเก่าเดี๋ยวจะไปพูดถึงตอนหลังครับ) แต่ทั้งสองก็มีความหวาดระแวงกันตลอดมา จนถึงสงครามกับตระกูลโฮโจ ที่กำลังผสมฮิเดโยชิ และอิเอยาสุ ประสบชัยชนะ ฮิเดโยชิก็ให้อิเอยาสุไปครองแถบคันโตอันเป็นฐานที่มั่นเก่าของตระกูลโฮโจ เปรียบเหมือนการผลักคู่แข่งให้ไปอยู่ในที่ห่างไกลและกันดาร(กล่าวถึงเรื่องนี้ไปแล้ว ไว้จะพูดถึงข้อดีของการไปอยู่ห่างไกลแบบนั้นว่าเป็นอย่างไร)

หลังสิ้นฮิเดโยชิ บุตรชายคือ โทโยโทมิ ฮิเดโยริ มีอายุเพียงห้าขวบ ก่อนหน้านั้นมีการตั้งไดเมียวอาวุโส ทั้งห้า หรือ โกไทโร่ อันประกอบด้วย โตกุกาวะ อิเอยาสุ,มาเอดะ โทชิอิเอะ,โมริ เทรุโมโตะ,อุเอซุงิ คากางาสึ และอุกิตะ ฮิเดอิเอะ และฮิเดโยชิ ให้โกไทโร่กระทำการสัตย์สาบานว่าจะคอยช่วยเหลือฮิเดโยริบุตรชายของตนจนกว่าจะเติบใหญ่ แต่ก็มีกลุ่มคนที่ไม่ไว้ใจอิเอยาสุ เกรงว่าจะยึดอำนาจปกครองญี่ปุ่นเสียเอง คนกลุ่มนี้นำโดยอิชิดะ มิสึนาริ อดีตคนรับใช้คนสนิทของฮิเดโยชิ โดยหลังจากมาเอดะ โทชิอิเอะ(พันธมิตรเก่าแก่ของฮิเดโยชิ) ไดเมียวผู้อาวุโสได้ตายลง ก็เกิดการแบ่งฝักแบ่งผ่ายชัดเจน คือ

-ฝ่ายทัพตะวันตก นำโดยมิสึนาริ และไดเมียวจากทางตะวันตก

-ฝ่ายทัพตะวันออก นำโดยอิเอยาสุ และไดเมียวจากทางตะวันออก

ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายมาถึงจุดแตกหักในศึกสงครามที่ทุ่งเซคิงาฮาระ อิเอยาสุและฝ่ายตะวันออกสามารถเอาชนะฝ่ายตะวันตกได้ และมิสึนาริถูกจับและประหาร หลังสิ้นสงครามครั้งนี้ อิเอยาสุจึงกุมอำนาจสูงสุดในแผ่นดินญี่ปุ่น

เนื่องจากโตกุกะวะ อิเอยาสุ สามารถอ้างการสืบเชื้อสายไปถึงตระกูลมินาโมโตะของพระจักรพรรดิเซวะ หรือ เซวะ เก็นจิ ได้ จึงเข้าข่ายมีสิทธิ์สามารถดำรงตำแหน่งโชกุนได้ ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเกียวโต ให้ดำรงตำแหน่งเซอิไทโชกุน เป็นปฐมโชกุนแห่งตระกูลโตกุกะวะ อันจะปกครองประเทศญี่ปุ่นไปอีกประมาณสองร้อยห้าสิบปี โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน

เมื่อเป็นโชกุนได้สองปี อิเอยาสุได้สละตำแหน่งโชกุนให้แก่โตกุกาวะ ฮิเดทาดะ บุตรชายที่เป็นทายาทของตน โดยที่อำนาจการปกครองที่แท้จริงยังคงอยู่ที่อิเอยาสุ เปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งเป็นโอโงโช หรือโชกุนผู้สละตำแหน่ง โดยยกให้โชกุนฮิเดทาดะบริหารปกครองอยู่ที่นครเอโดะ ต่อมาเกิดข่าวลือว่าโทโยโทมิ ฮิเดโยริ บุตรชายของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ซึ่งได้เติบใหญ่อยู่ที่ปราสาทโอซาก้า ได้วางแผนกับมารดาของตน ซ่องสุมกำลังคนเพื่อที่จะฟื้นฟูตระกูลโทโยโทมิ ให้กลับมาปกครองญี่ปุ่นอีกครั้ง โอโงโชอิเอยาสุ ร่วมกับโชกุนฮิเดทาดะ ยกทัพขนาดมหึมาไปทำการล้อมปราสาทโอซาก้า จนกระทั่งฝ่ายโทโยโทมิพ่ายแพ้ ฮิเดโยริกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต โดยท่านหญิงเซ็ง ภรรยาของฮิเดโยริผู้ซึ่งเป็นหลานสาวของอิเอยาสุได้รับการช่วยเหลือออกมาก่อน

โอโงโชอิเอยาสุ เสียชีวิตในปี 1616 ขณะอายุ 73 ปี หลังจากที่เสียชีวิตแล้วโตกุกาวะ อิเอยาสุ ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้า มีชื่อว่า โทโช ไดงนเง็น เป็นพระโพธิสัตว์ที่ลงมาโปรดสัตว์บนโลกมนุษย์ มีศาลเจ้าคือ ศาลเจ้านิกโกโทโช ในเมืองนิกโก จังหวัดโทชิงิในปัจจุบัน
 -ทีนี้ผมก็มาขอพูดถึงสามท่านนี้กันหน่อย อันดับแรก ชาติกำเนิด ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็ต้องบอกว่าโนบุนากะเป็นคนที่ถือกำเนิดในชาติตระกูลที่สูงกว่าทั้งสองคน แม้อิเอยาสุจะเกิดในตระกูลไดเมีย วเหมือนโนบุนากะ แต่ก็เป็นแคว้นที่เล็กกว่า ทำให้ในส่วนนี้ผมเห็นว่า ส่งผลให้อิเอยาสุ รู้จักเล่น “การเมือง” คือ รู้จักนโยบายที่เรียกว่า “ไผ่ลู่ลม” ใครที่เข้มแข็งกว่าก็โอนไปทางนั้น และรู้จัก “จังหว่ะ” และ “เวลา” ที่เหมาะสม ในการที่จะทำอะไรลงไป ส่วนฮิเดโยชิ ไม่ต้องพูดถึง เค้าเกิดในตระกูลครอบครัวชาวนาทหาร ฉะนั้น เค้าจึงถือว่ามีความจงรักภักดีต่อเจ้านาย คือ โนบุนากะ พอสมควร แม้ในหนังที่ผมเคยดู(มันคือหนังครับ) จะทำให้เหมือนฮิเดโยชิมีเอี่ยวกับถูกอาเกชิ มิสึฮิเดะ ผู้วางแผนจัดการโนบุนากะก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็อย่าเพิ่งไปฟันธงครับว่ามันเป็นยังไง

ไหนๆก็พูดถึงอาเกชิ มิสึฮิเดะ ไปละ ก็ขอแทรกเรื่องของท่านนี้นิดหน่อยละกันครับ เค้ามีความเจ็บแค้นกับโนบุนากะ คือ โนบุนากะเคยสั่งให้มิสึฮิเดะ นำทัพไปจัดการตระกูลฮาตาโนะ แต่มิสึฮิเดะใช้วิธีเจรจา แล้วส่งแม่ไปเป็นตัวประกัน แต่พวกฮาตาโนะ คิดจะลอบสังหารโนบุนากะจึงแกล้งมาสวามิภักดิ์ โนบุนากะจึงสั่งให้สังหารคนพวกนั้นทั้งหมด ซึ่งมีแม่ของมิสึฮิเดะที่เป็นตัวประกันอยู่ในนั่นด้วย มิสึฮิเดะจึงแค้นฝังใจเรื่อยมา

โนบุนากะทำให้คิดถึงใคร บางทีทำให้ผมคิดถึงฮิตเลอร์นะ ในแง่ของการพุ่งขึ้นมามีอำนาจอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝัน แม้สาเหตุของจุดจบจะต่างกัน ฮิตเลอร์โดนล้อมจากศัตรู ส่วนโนบุนากะโดนลูกน้องทรยศ แต่สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตตัวเองเหมือนกัน ในประเด็นถูกลูกน้องทรยศ ทำให้อีกท่านหนึ่งโผล่มาในหัวคือ พระเจ้าตากสินครับ ดังกระทู้ที่ผมฝากไว้ ในเรื่องที่พูดถึงโนบุนากะ

ว่ากันที่ความโหดเหี้ยมล่ะ ในบรรดาสามคนนี้แน่นอนโนบุนากะต้องขึ้นชื่อที่สุด ด้วยความใจร้อน ฉุนเฉียวเป็นทุนเดิม ในยุคโนบุนากะ มีการกวาดล้างพระนักรบและนักพรต ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงหรือเด็กทารก การกวาดล้างนี้ดำเนินไปทุกที่ ที่มีท่าทีว่าจะก่อการกบฏต่อเขา แต่ในความโหดเหี้ยมก็ยังพอมีส่วนดีให้พูดถึงบ้าง คือในยุคโนบุนากะ มีการก่อตั้ง “กองกำลังทหารอาชิงารุ” ซึ่งมาจากชาวบ้านธรรมดาที่อยากเข้าร่วมสงคราม ซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องของซามูไรเท่านั้น

ประเด็นในเรื่องการอยากเป็นโชกุน หรือเรียกว่ายศตำแหน่งจะเห็นว่าโนบุนากะไม่ได้มีความต้องการอยากที่จะเป็นอะไร เพราะเห็นว่าการกุมอำนาจที่แท้จริงสำคัญมากกว่า ส่วนฮิเดโยชิ ไม่มามารถเป็นได้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ส่วนอิเอยาสุก็ขึ้นเป็นโชกุนอย่างไร้ปัญหา

ส่วนฮิเดโยชิ โหดไหม? แม้จะไม่ได้มีคนถูกกวาดล้างเยอะเหมือนโนบุนากะ แต่การฆ่าญาติตัวเอง คือ ฮิเดสึงุ และบรรดาเมียทั้งหลายของเขา ผมว่ามันก็โหดนะ มีเรื่องน่าพูดถึงหน่อยคือ ในยุคฮิเดโยชิพวกชาวบ้าน ชาวนานักรบ โดนริบอาวุธหมดนะ เพราะฮิเดโยชิกลัวพวกนี้จะขึ้นมามีอำนาจเหมือนที่ตนเองทำสำเร็จมาแล้ว

ฮิเดโยชิทำให้ผมคิดถึงใคร? มันเหมือนเป็นมุมย้อนกลับอย่างไรไม่ทราบ ผมคิดถึง “กุบไลข่าน” ผู้มีความประสงค์จะบุกยึดญี่ปุ่น คือ มันเหมือนกันโดยบังเอิญอย่างไร ไม่ทราบ กุบไลข่านบุกญี่ปุ่น 2 ครั้งไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับฮิเดโยชิ บุกเกาหลี ซึ่งเป้าหมายจริงๆคือจีน 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน น่าคิดนะครับ

กับอิเอยาสุ ต้องบอกว่าในสามคนนี้เป็นคนที่มีกึ๋นที่สุดนั่นแหละครับ เพราะสุดท้ายอำนาจเหนือแผ่นดินญี่ปุ่นอยู่กับตระกูลของเขาอย่างมั่นคง ในแง่ของตัวบุคคล โนบุนากะแน่นอนว่ารวมญี่ปุ่นไม่สำเร็จ แต่เขาเป็นคนจุดประกาย ฮิเดโยชิรวมแผนดินญี่ปุ่นสำเร็จ แต่ไม่สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปยังลูกหลานได้ ส่วนอิเอยาสุ สามารถรวบรวมอำนาจ และส่งต่อไปให้ลูกหลานสืบทอดต่อไปได้อย่างมั่นคง

แน่นอนในเรื่องการสืบทอดอำนาจนั้น ผมว่ายากยิ่งกว่าการรวบรวมแผ่นดินอีก โนบุนากะแน่นอนว่าคงยังไม่ได้วางแผนอะไรไว้มากมายนักหรอกครับ ก็ต้องมาตายก่อนเวลาอันควร ส่วนฮิเดโยชิก็วางแผนไว้ครับ ผมว่าก็คงคิดไว้อย่างดีเหมือนกัน แต่ปัจจัยมันไม่เอื้ออำนวยจริงๆ คือลูกเขายังเด็กมากๆ ไม่ประสีประสาอะไรกับเรื่องที่พ่อพยายามวางเอาไว้ให้ เหตุประกอบก็คงเป็นเพราะแกมีลูกช้าด้วยแหละ(รวมทั้งลูกคนก่อนก็มาชิงตายไปซะนี่) ส่วนอิเอยาสุ ผมว่าแกวางแผนมาอย่างดี รวมทั้งลูกที่แกสละตำแหน่งโชกุนให้ ก็โตพอ และมีความสามารถพอสมควร ผมว่าไอ้การสละตำแหน่งโชกุนให้ลูก แล้วตัวเองไปเป็นพี่เลี้ยงห่างๆนี่แหละครับ มันทำให้คนที่สืบทอดอำนาจต่อ สามารถดำรงอำนาจของตระกูลไว้ได้อย่างราบรื่น

อิเอยาสึ ทำให้นึกถึงใคร คนนี้ผมยังไม่มีใครแวปมาอย่างชักเจน เพื่อนๆช่วยผมคิดทีละกันครับ มีอีกอย่างที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับอิเอยาสุ คือ การที่ฮิเดโยชิไล่ให้ไปปกครองแถบคันโตอันห่างไกล(ขอใช้คำว่าไล่นะครับ 555) มันส่งผลดีในความเห็นผมอย่างหนึ่งคือ ในการบุกเกาหลีของฮิเดโยชิ อิเอยาสุไม่ได้เดือดร้อน หรือสูญเสียมากเท่าไร คือนอกจากความต้องการส่วนตัวที่ไม่ต้องการไปสูญเสียกับสงครามที่ไม่คุ้มค่า มันยังอ้างได้ครับ ว่าไกล ไม่สะดวกยกทัพไปช่วย อะไรประมาณนั้น

อีกเรื่องที่ผมขอว่าปิดท้ายเรื่องนี้ก็คือ มันมีความน่าสนใจมาก เรื่องการผูกสัมพันธ์โดยการแต่งงาน หรือการส่งบุคคลสำคัญของฝ่ายหนึ่งไปเป็นตัวประกัน ซึ่งมันเป็นการผูกสัมพันธ์สร้างเงื่อนไขระหว่างกันของอาณาจักร หรือแคว้นในสมัยก่อนที่เค้าใช้กันทั่วทั้งโลก ยุโรปก็มี จีนก็มี ญี่ปุ่นก็มี รวมทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็มีเช่นกับ เลยขอสรุป การเชื่อมความสัมพันธ์โดยใช้การแต่งงาน และการเอาคนเป็นตัวประกันในญี่ปุ่นยุคที่เรากำลังพูดถึงกันหน่อย ว่ามีใคร อะไร อย่างไรบ้าง? (ซึ่งไม่ได้เรียงตามลำดับก่อน-หลังนะครับ อาจมีงงบ้าง ขออภัย)

-โนบุนากะ แต่งงานกับลูกสาวไดเมียวแคว้นมิโนะ

-โนบุนากะ ส่งน้องสาวชื่อ อิจิ ไปแต่งงานกับอาซาอิ นางามาสะ แห่งแคว้นโอมิ(แต่ไม่เป็นผล รบกันอยู่ดี)

-น้องสาวคนหนึ่งของโนบุนากะชื่อ อิจิ แต่งงานกับชิบาตะ คาสึอิเอะ ผู้ต่อต้านฮิเดโยชิหลังโนบุนากะเสียชีวิต

-ฮิเดโยชิหลังสงบศึกกับอิเอยาสุ ส่งน้องสาว คือ นางอาซาฮี ไปเป็นภรรยาเอกคนใหม่ของอิเอยาสุ และส่งแม่ไปเป็นตัวประกัน

-อิเอยาสุ เคยถูกส่งไปเป็นตัวประกันต่อตระกูลอิมางาวะ

-อิเอยาสุ แต่งงานกับนางซึกิยามะ (ภรรยาเอกคนแรก) หลานสาวของอิมางาวะ โยชิโมโตะ(คู่สงครามโนบุนากะ)

-ฮิเดโยชิ มีภรรยารอง ชื่อโยโด โดโนะ เป็นบุตรของอาซาอิ นางามาสะ แห่งแคว้นโอมิ กับนางอิจิ(น้องสาวโบบุนากะ) ตอนแรกรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาเอามาเป็นภรรยารอง ต่อมามีบุตรด้วยกันคือ ฮิโรอิมารุ หรือ โทโยโทมิ ฮิเดโยริ ที่ฮิเดโยชิวางตัวให้สืบอำนาจต่อจากตนเอง

-ลูกชายของอิเอยาสุ คือ มาสึไดระ โนบุยาสุ(ชื่อขณะนั้น) แต่งงานกับ ท่านหญิงโทกุ บุตรสาวโนบุนากะ อันนี้มีผลต้องย้อนขึ้นไปพูดเรื่องข้างบนเกี่ยวกับภรรยาเอกคนแรกของอิเอยาสุ คือ นางซึกิยามะ ซึ่งมาจากตระกูลอิมางาวะ ซึ่งเป็นคู่สงคราม คือบอกตรงๆว่าไม่ถูกกับโนบุนากะ ทำให้ปัญหาแม่ผัว-ลูกสะใภ้ จากตระกูลที่ไม่ถูกกันเกิดขึ้น โดยท่านหญิงโทกุ เขียนจดหมายไปฟ้องพ่อคือโนบุนากะว่านางซึกิยามะ(แม่ผัว) สมคบคิดกับทาเคดะ กาสึโยริ ทรยศต่อโบบุนากะ เมื่อทราบเรื่อง โบบุนากะจึงสั่งให้โนบุยาสุกระทำการเซ็ปปุกุ และประหารนางซึกิยามะ อิเอยาสุขัดไม่ได้ ต้องทำตามนั้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสร้างความแค้นต่อโนบุนากะบ้าง ไม่มากก็น้อยล่ะครับ

-อิเอยาสุ ยกบุตรสาวให้แต่งงานกับโฮโจ อุจินาโอะ ทายาทของโฮโจ อุจิมาสะ เพื่อสร้างพันธมิตรเมื่อคราวที่อิเอยาสุ(และโนบุนากะ) ทำสงครามกับตระกูลทาเคดะ

-จากการที่อิเอยาสุเคยเชื่อมสัมพันธ์กับตระกูลโฮโจ เมื่อกองกำลังฮิเดโยชิ-อิเอยาสุ รบกับตระกูลโฮโจ จึงมีการให้อิเอยสุส่ง นากามารุ ลูกชายมาเป็นตัวประกัน

-ฮิเดโยริ ลูกชายของฮิเดโยชิ ก็มีภรรยาเป็นหลานของอิเอยาสุ แต่ก็เชื่อมสัมพันธ์ไม่สำเร็จครับ ฮิเดโยริคิดก่อการฟื้นฟูตระกูลโทโยโทมิ แต่ก่อการสำเร็จ ฮิเดโยริกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต ส่วนภรรยาที่เป็นหลานอิเอยาสุ ได้รับการช่วยเหลือออกมาก่อ

ผมก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ คือในสมองตอนนี้ มันมีข้อมูลแล่นเพียงเท่านี้ แต่หากมีอะไรเพิ่มเติม ผมจะเพิ่มเข้าไป แล้วแชร์ซ้ำครับ เพื่อให้เพื่อนๆได้รับข้อมูลที่ใส่ลงไปใหม่ อะไรที่ผิดพลาดขออภัย แจ้งเข้ามาได้ครับ ผมพร้อมแก้ไข(คือตอนนี้ยังไม่ตรวจทาน) ขอบคุณอินเตอร์เน็ต เวปวิกิพีเดีย อีกหลายเวปที่จำไม่ได้ หนังสือหลายเล่ม การ์ตูนก็หลายเรื่อง และหนังหลายเรื่องอีกเช่นกัน(ที่ต้องบอกหลายเรื่องๆเพราะมันเยอะมาก จำไม่หมดครับ) หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ ใครอ่านจบขอเสียงหน่อย แม่งเรื่องนี้ยาวมากๆ 555
จบบริบูรณ์